อุโมงค์ (บาลีวันละคำ 4,479)
อุโมงค์
ลอดไปให้รอด
อ่านว่า อุ-โมง
“อุโมงค์” บาลีเป็น “อุมงฺค” อ่านว่า อุ-มัง-คะ และ “อุมฺมงฺค” อ่านว่า อุม-มัง-คะ รากศัพท์มาจาก อโธ (คำนิบาตบอกที่ = เบื้องต่ำ, ภายใต้) + มงฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบ โธ ที่ อโธ แล้วแปลง อ (อะ) เป็น อุ (อโธ > อ > อุ)
: อโธ + มงฺค = อโธมงฺคฺ + อ = อโธมงฺค > อมงฺค > อุมงฺค แปลตามศัพท์ว่า “ทางเป็นเครื่องไปในเบื้องต่ำ”
อีกรูปหนึ่งคือ “อุมฺมงฺค” รากศัพท์เหมือนกัน เพียงแต่ซ้อน มฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ
: อโธ + มฺ + มงฺค = อโธมฺมงฺคฺ + อ = อโธมฺมงฺค > อมฺมงฺค > อุมฺมงฺค แปลเหมือนกัน
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อุมงฺค” และ “อุมฺมงฺค” ว่า อุโมงค์, ท่อน้ำ, ทางใต้ดิน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล (ที่คำว่า “อุมฺมคฺค”) ว่า an underground watercourse, a conduit, main (ทางน้ำใต้ดิน, ทางระบายน้ำ, ท่อน้ำใหญ่)
ส่วนที่คำว่า “อุมฺมงฺค” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า “out luck”, i. e. unlucky; or “one who has gone off the right path” (“อับโชค”, คือไม่มีโชค; หรือ “ผู้เดินออกนอกทางที่ถูก”)
บาลี “อุมงฺค” และ “อุมฺมงฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุมงค์” และ “อุโมงค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุมงค์, อุโมงค์ : (คำนาม) ทางใต้ดิน, ช่องหรือทางที่ขุดลงไปใต้ดินหรือในภูเขา. (ป. อุมฺมงฺค).”
ขยายความ :
ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวถึงปัญจมหานทีหรือแม่นํ้า 5 สาย คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหิ ว่ามีต้นกำเนิดมาจากป่าหิมพานต์ มีคำบรรยายเส้นทางของแม่น้ำว่าผ่าน “อุโมงค์” ด้วย ขอนำคำบรรยายมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบความรู้
คำบรรยายนี้ค่อนข้างยาว และผู้เขียนบาลีวันละคำตั้งใจยกคำบาลีมากำกับไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนบาลี พึงมีอุตสาหะในการอ่านเถิด ในที่นี้ใส่หมายเลขแต่ละตอนไว้ด้วยเพื่อกำหนดได้ง่ายขึ้น
…………..
(๑) ปุรตฺถิมทิสโต นิกฺขนฺตนที อโนตตฺตํ ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กตฺวา อิตรา ติสฺโส นทิโย อนุปคมฺม ปาจีนหิมวนฺเตเนว อมนุสฺสปถํ คนฺตฺวา มหาสมุทฺทํ ปวิสติ.
แม่น้ำที่ไหลออกจากทิศตะวันออกวนรอบสระอโนดาต 3 รอบ ไม่ปนกับแม่น้ำ 3 สายนอกนี้ ไปสู่ถิ่นอมนุษย์ทางป่าหิมพานต์ด้านตะวันออกแล้วเข้าไปสู่มหาสมุทร.
(๒) ปจฺฉิมทิสโต จ อุตฺตรทิสโต จ นิกฺขนฺตนทิโยปิ ตเถว ปทกฺขิณํ กตฺวา ปจฺฉิมหิมวนฺเตเนว อุตฺตรหิมวนฺเตเนว จ อมนุสฺสปถํ คนฺตฺวา มหาสมุทฺทํ ปวิสนฺติ.
แม้แม่น้ำที่ออกจากทิศตะวันตกและจากทิศเหนือก็วนรอบสระอโนดาต 3 รอบเช่นเดียวกัน ไปสู่ถิ่นอมนุษย์ทางป่าหิมพานต์ด้านตะวันตกและด้านเหนือตามด้านของตนแล้วเข้าไปสู่มหาสมุทร.
(๓) ทกฺขิณทิสโต นิกฺขนฺต นที ปน ตํ ติกฺขตฺตุํ ปทกฺขิณํ กตฺวา ทกฺขิเณน อุชุกํ ปาสาณปิฏฺเฐเนว สฏฺฐิโยชนานิ คนฺตฺวา ปพฺพตํ ปหริตฺวา วุฏฺฐาย ปริกฺเขเปน ติคาวุตปฺปมาณา อุทกธาร หุตฺวา อากาเสน สฏฺฐิโยชนานิ คนฺตฺวา ติยคฺคเฬ นาม ปาสาเณ ปติตา,
ส่วนแม่น้ำที่ไหลออกจากทิศใต้วนรอบสระอโนดาต 3 รอบ แล้วไหลไปตามหลังแผ่นหินตรงไปทางเหนือได้ 60 โยชน์ แล้วปะทะภูเขาผันออกเป็นธารน้ำประมาณ ๓ คาวุต โดยวัดรอบวงกลม ไปโดยอากาศ 60 โยชน์ แล้วตกลงบนแผ่นหินชื่อ ติยัคคฬะ.
(๔) ปาสาโณ อุทกธาราเวเคน ภินฺโน, ตตฺถ ปญฺญาสโยชนปฺปมาณา ติยคฺคฬา นาม โปกฺขรณี ชาตา,
แผ่นหินนั้นแตกด้วยกำลังธารน้ำ เกิดเป็นสระโบกขรณีใหญ่ประมาณ 50 โยชน์ ชื่อ ติยัคคฬะ.
(๕) โปกฺขรณิยา กูลํ ภินฺทิตฺวา ปาสาณํ ปวิสิตฺวา สฏฺฐิโยชนานิ คตา.
น้ำทำลายฝั่งสระโบกขรณีเข้าไปสู่แผ่นหิน ไหลไปได้ 60 โยชน์.
(๖) ตโต ฆนปฐวึ ภินฺทิตฺวา อุมฺมงฺเคน สฏฺฐิโยชนานิ คนฺตฺวา วิชฺฌํ นาม ติรจฺฉานปพฺพตํ ปหริตฺวา หตฺถตเล ปญฺจงฺคุลิสทิสา ปญฺจธารา หุตฺวา ปวตฺตนฺติ.
แต่นั้น ทำลายแผ่นดินทึบไปได้ 60 โยชน์ทางอุโมงค์ ปะทะภูเขาขวางชื่อ วิชฌะ แตกเป็นลำธาร 5 สายไหลไปเหมือนกับนิ้วมือทั้ง 5 บนฝ่ามือ.
(๗) สา ติกฺขตฺตุํ อโนตตฺตํ ปทกฺขิณํ กตฺวา คตฏฺฐาเน อาวฏฺฏคงฺคาติ วุจฺจติ.
แม่น้ำนั้นตอนที่วนรอบสระอโนดาต 3 รอบ เรียกว่า “อาวัฏคงคา” (คงคาวน)
(๘) อุชุกํ ปาสาณปิฏฺเฐน สฏฺฐิโยชนานิ คตฏฺฐาเน กณฺหคงฺคาติ,
ตอนที่ไหลไปตามหลังแผ่นหินตรงไปได้ 60 โยชน์ เรียกว่า “กัณหคงคา” (คงคาดำ)
(๙) อากาเสน สฏฺฐิโยชนานิ คตฏฺฐาเน อากาสคงฺคาติ.
ตอนที่ไปโดยอากาศ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า “อากาศคงคา” (คงคาตกสวรรค์)
(๑๐) ติยคฺคฬปาสาเณ ปญฺญาสโยชโนกาเส ฐิตา ติยคฺคฬโปกฺขรณีติ.
ตอนที่ขังอยู่ในที่ว่างประมาณ ๕๐ โยชน์บนแผ่นหินชื่อ ติยัคคฬะ เรียกว่า “ติยัคคฬโบกขรณี” (สระโบกขรณีสามลิ่ม)
(๑๑) กูลํ ภินฺทิตฺวา ปาสาณํ ปวิสิตฺวา สฏฺฐิโยชนานิ คตฏฺฐาเน พหลคงฺคาติ.
ตอนที่ทำลายฝั่ง (สระโบกขรณี) เข้าไปสู่แผ่นหินไหลไป ๖๐ โยชน์ เรียกว่า “พหลคงคา” (คงคาน้ำแน่น)
(๑๒) อุมฺมงฺเคน สฏฺฐิโยชนานิ คตฏฺฐาเน อุมฺมงฺคคงฺคาติ วุจฺจติ.
ตอนที่ไปทางอุโมงค์ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า “อุมมังคคงคา” (คงคาผ่าอุโมงค์)
(๑๓) วิชฺฌํ นาม ติรจฺฉานปพฺพตํ ปหริตฺวา ปญฺจธารา หุตฺวา ปวตฺตฏฺฐาเน ปน คงฺคา ยมุนา อจิรวตี สรภู มหีติ ปญฺจธา สงฺขํ คตา,
ส่วนตอนที่ปะทะภูเขาขวางชื่อ วิชฌะ แตกเป็นลำธาร ๕ สายไหลไป ได้ชื่อแยกตามสายเป็น ๕ ชื่อ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ.
(๑๔) เอวเมตา ปญฺจ มหานทิโย หิมวนฺตโต ปภวนฺติ.
มหานที 5 สายเหล่านี้พึงทราบว่า มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาหิมพานต์ ด้วยประการฉะนี้.
ที่มาบาลี: ปปัญจสูทนี ภาค 3 อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (โปตลิยสูตร) หน้า 42-43
คำแปล: ผู้เขียนบาลีวันละคำแปลโดยประสงค์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์หรือไม่เห็น
: ก็อย่ามัวแต่นอนเล่นอยู่ในอุโมงค์
#บาลีวันละคำ (4,479)
16-9-67
…………………………….
…………………………….