บาลีวันละคำ

หัตถศึกษา (บาลีวันละคำ 3,159)

หัตถศึกษา

ไม่ใช่ศึกษาเรื่องมือ?

อ่านว่า หัด-ถะ-สึก-สา

ประกอบด้วยคำว่า หัตถ + ศึกษา

(๑) “หัตถ

บาลีเป็น “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)

: หสฺ + = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก

(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)

: หนฺ + = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม

(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)

: หรฺ + = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ

(4) หตฺถ (มือ) + ปัจจัย, ลบ

: หตฺถ + = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” (ปุงลิงค์) ดังนี้ –

(1) hand (มือ)

(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)

(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”

(๒) “ศึกษา

บาลีเป็น “สิกฺขา” (สิก-ขา) รากศัพท์มาจาก สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิกฺข + = สิกฺข + อา = สิกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิกฺขา” ไว้ดังนี้ –

(1) study, training, discipline (การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย)

(2) [as one of the 6 Vedāngas] phonology or phonetics, combd with nirutti [interpretation, etymology] ([เป็นหนึ่ีงในเวทางค์ 6] วิชาว่าด้วยเสียง หรือการอ่านออกเสียงของคำต่าง ๆ, รวมกับ นิรุตฺติ [การแปลความหมาย, นิรุกติ])

ความหมายของ “สิกขา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิกขา : (คำนาม) ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ ศีล เรียกว่า ศีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา; การศึกษา, การเล่าเรียน, เช่น ปริยัติสิกขา ปฏิบัติสิกขา. (ป.; ส. ศิกฺษา).”

บาลี “สิกฺขา” สันสกฤตเป็น “ศิกฺษา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศิกฺษ” อันเป็นรากศัพท์ (ธาตุ) ของ “ศิกฺษา” ไว้ดังนี้ –

ศิกฺษ : (ธาตุ) เรียน, ศึกษาศาสตร์หรือความรู้; to learn, to acquire science or knowledge.”

และบอกความหมายของ “ศิกฺษา” ไว้ดังนี้ –

ศิกฺษา : (คำนาม) ‘ศึกษา,’ หนึ่งในจำนวนหกแห่งเวทางค์ หรือ ศาสตร์อันติดต่อกับพระเวท; การศึกษา, การเล่าเรียน; ความเสงี่ยมในมรรยาท, อนหังการ; one of the six Vedāngas or sciences attached to the Vadas; learning, study; modesty, humility.”

ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้อิงรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศึกษา : (คำนาม) การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม. (ส. ศิกฺษา; ป. สิกฺขา).”

หัตถ + ศึกษา = หัตถศึกษา แปลว่าอะไร หมายถึงอะไร?

ถ้าเอาคำว่า “หัตถกรรม” มาเทียบ พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัตถกรรม” คือ “งานช่างที่ทำด้วยมือ โดยถือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก

ถ้าเอาคำว่า “หัตถศิลป์” มาเทียบ พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัตถศิลป์” คือ “ศิลปะในการผลิตสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือ โดยถือความงามเป็นหลัก

ถ้าเอาคำว่า “หัตถศาสตร์” มาเทียบ พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัตถศาสตร์” คือ “วิชาเกี่ยวกับการทำนายจากเส้นลายมือ

พอมาถึง “หัตถศึกษา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หัตถศึกษา : (คำนาม) การศึกษาที่เน้นในเรื่องการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ด้วยมือ.”

หัตถศึกษา” เป็นคำที่อยู่ในชุดของ “-ศึกษา” อีก 3 อย่าง คือ –

พลศึกษา” : การศึกษาที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามและพัฒนาการทางร่างกาย

พุทธิศึกษา” : การศึกษาที่เน้นในเรื่องการสอนให้เกิดความรู้ความคิดอย่างมีเหตุผล

จริยศึกษา” : การศึกษาเกี่ยวกับความเจริญงอกงามในทางความประพฤติและการปฏิบัติตน เพื่อให้อยู่ในแนวทางของศีลธรรมและวัฒนธรรม (อ. moral education)

อภิปรายขยายความ :

จะเห็นได้ว่า ความหมายของคำที่ขึ้นต้นด้วย “หัตถ-” ในภาษาไทยผิดแปลกแตกต่างกันไปในแต่ละคำ คือ “หัตถ-” ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “มือ” ล้วนๆ อย่างเดียว แต่บางคำหมายถึง สิ่งที่ทำด้วยมือ บางคำหมายถึง สิ่งที่ปรากฏอยู่ที่มือ

เฉพาะคำว่า “หัตถศึกษา” คำว่า “หัตถ-” ไม่ได้หมายถึง “สิ่งที่ทำด้วยมือ” หรือ “สิ่งที่ปรากฏอยู่ที่มือ” หากแต่หมายถึง “การประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ด้วยมือ” คือเน้นไปที่ “การประดิษฐ์ด้วยมือ” หรือ “การใช้มือประดิษฐ์

พจนานุกรมทั่วไปบอกว่า “หัตถศึกษา” แปลมาจากคำอังกฤษว่า handicraft education

ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) บอกว่า handicraft บัญญัติเป็นคำไทยว่า “หัตถกรรม

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล handicraft เป็นบาลีดังนี้:

(1) hatthakamma หตฺถกมฺม (หัด-ถะ-กำ-มะ) = งานที่ต้องใช้มือทำ, งานที่ต้องใช้แรงงาน

(2) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = งานฝีมือ, ความสามารถทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยใช้ฝีมือ

เมื่อประมวลความหมายของศัพท์ดูแล้ว handicraft education ก็น่าจะบัญญัติเป็นคำไทยว่า “หัตถกรรมศึกษา” “หัตถศิลปศึกษา” หรือ “หัตถประดิษฐศึกษา” มากกว่าที่จะเป็น “หัตถศึกษา

เพราะคำว่า “หัตถศึกษา” อาจถูกคนพาซื่อแปลความหมายซื่อๆ ว่า “ศึกษาเรื่องมือ” เช่น ศึกษาว่า –

มือของคนมีบุญมีลักษณะอย่างนี้

มือของเศรษฐีมีลักษณะอย่างนี้

มือของคนสุขภาพดีมีลักษณะอย่างนี้

มือของคนขยันมีลักษณะอย่างนี้

มือของคนเกียจคร้านมีลักษณะอย่างนี้

มือของคนจะได้เป็นใหญ่เป็นโตมีลักษณะอย่างนี้

ฯลฯ

และหลักวิชาเช่นนี้อาจจัดเข้าเป็น “ศาสตร์” สำคัญศาสตร์หนึ่งในบรรดาศาสตร์ต่างๆ ในโลก

นี่เป็นเพียงข้ออภิปรายเพื่อให้เกิดความร่าเริงทางภาษาเท่านั้น โปรดอย่าถือเป็นเรื่องจริงจัง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มือที่ขยันทำชั่ว

: น่ากลัวกว่ามือที่ขี้เกียจทำดี

#บาลีวันละคำ (3,159)

4-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย