บาลีวันละคำ

ปัจเจกพุทธะ (บาลีวันละคำ 1,235)

ปัจเจกพุทธะ

อ่านว่า ปัด-เจ-กะ-พุด-ทะ

และ ปัด-เจก-กะ-พุด-ทะ

ประกอบด้วย ปัจเจก + พุทธะ

(๑) “ปัจเจก

บาลีเป็น “ปจฺเจก” (ปัด-เจ-กะ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + เอก (เอ-กะ; หนึ่ง, คนเดียว)

กระบวนการทางไวยากรณ์คือ “ปฏิ” เมื่อสนธิ (ต่อกัน ประสมกัน รวมกัน) กับ “เอก” ให้แปลงรูปเป็น “ปจฺจ” (ปัด-จะ)

: ปฏิ > ปจฺจ + เอก = ปจฺเจก แปลตามศัพท์ว่า “เฉพาะหนึ่ง” หมายถึง เฉพาะ, ผู้เดียว, เดี่ยว, คนเดียวต่างหาก, แยก, หลายอย่าง, ต่างกัน (each one, single, by oneself, separate, various, several)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

ปัจเจก, ปัจเจก- : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) เฉพาะตัว, เฉพาะบุคคล, เช่น ปัจเจกชน. (ป.; ส. ปฺรเตฺยก).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน (สะกดคำนี้เป็น “ปฺรตฺเยก”) บอกไว้ว่า –

ปฺรตฺเยก : (กริยาวิเศษณ์) ‘ปรัตเยก,’ มคธว่า- ‘ปจฺเจก,’ เดี่ยว, คนเดียว, ทีละคน; singly, one, one by one at a time.”

(๒) “พุทธะ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ ทหาร) อ่านว่า พุด-ทะ

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

เป็นคำกริยา แปลว่า “รู้แล้ว

เป็นคุณศัพท์แปลว่า ผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน

เป็นคำนาม แปลว่า “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า.”(ป.).

ปัจเจก + พุทธะ = ปัจเจกพุทธะ

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ปัจเจกพุทธะ : (คำนาม) ชื่อพระพุทธเจ้าพวกหนึ่งที่ตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น. (ป.).”

ปัจเจกพุทธะ มักเรียกกันเป็นสามัญว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า

ข้อที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้า คือ –

1. พระปัจเจกพุทธเจ้าจะมีเฉพาะในช่วงพุทธันดร คือเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนาเท่านั้น

2. พระปัจเจกพุทธเจ้ามีได้หลายองค์ในช่วงเวลาเดียวกัน (ต่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีได้คราวละองค์เดียว)

3. เนื่องจากพระปัจเจกพุทธเจ้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มนุษย์มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ จึงเป็นการยากที่จะสั่งสอนคนทั้งหลายให้สิ้นกิเลสบรรลุธรรมได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงสอนไปก็ไม่มีใครเชื่อ จึงเข้าใจกันว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มีความสามารถที่จะสั่งสอนหรือประดิษฐานศาสนาขึ้นได้

: พระเทวทัตเราว่าเลวเหลือเข็น ก็ยังจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

: คนดีๆ อย่างพวกเรา เมื่อไรจะได้บรรลุธรรม

16-10-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย