นาคราช – ราชนาค (บาลีวันละคำ 3,161)
นาคราช – ราชนาค
พญานาค – นาคหลวง
“นาคราช” อ่านว่า นาก-คะ-ราด
“ราชนาค” อ่านว่า ราด-ชะ-นาก
ประกอบด้วยคำว่า นาค + ราช
(๑) “นาค”
บาลีอ่านว่า นา-คะ ใช้ในภาษาไทยคำเดียว อ่านว่า นาก ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า นา-คะ- หรือ นาก-คะ-
คำว่า “นาค” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้:
(1) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต =ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + คมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ค), ทีฆะ อะ ที่ น เป็น อา
: น + คมฺ = นคมฺ + กฺวิ = นคมกฺวิ > นคม > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ไม่ได้ไปด้วยเท้า” หมายถึง งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” (a serpent, a serpentlike water-god) ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด
หมายเหตุ : ความหมายนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานเอง เนื่องจากยังไม่พบตำราที่ตั้งวิเคราะห์ศัพท์โดยตรง นักเรียนบาลีท่านใดทราบบทตั้งวิเคราะห์ความหมายนี้ ขอได้โปรดช่วยแก้ไขให้ด้วย
(2) รากศัพท์มาจาก นค (ภูเขา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ น-(ค) เป็น อา (นค > นาค)
: นค + ณ = นคณ > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง (an elephant) หมายถึงช้างที่ฝึกหัดเป็นอย่างดีแล้ว เช่นช้างศึก
(3) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต =ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + คมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ค), ทีฆะ อะ ที่ น เป็น อา
: น + คมฺ = นคมฺ + กฺวิ = นคมกฺวิ > นคม > นค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก) (The Nāga-tree, iron-wood tree, fairy tree)
(4) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต =ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + อคฺค (ผู้เลิศ), ทีฆะ อะ ที่ อ-(คฺค) เป็น อา (อคฺค > อาคฺค), ลบ ค ออกตัวหนึ่ง
: น + อคฺค = นคฺค > นาคฺค > นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์ (the Buddha, Arahants; hero or saint)
(5) รากศัพท์มาจาก –
(ก) น (คำนิบาต =ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + อาคุ (บาป) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อุ ที่ (อา)-คุ (อาคุ > อาค)
: น + อาคุ = นาคุ > นาค + อ = นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่ทำบาปกรรม”
(ข) น (คำนิบาต =ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + อฆ (บาป), ทีฆะ อะ ที่ อ-(ฆ) เป็น อา (อฆ > อาฆ), แปลง ฆ เป็น ค
: น + อฆ = นฆ > นาฆ > นาค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีบาป”
“นาค” ตามรากศัพท์ในข้อ (5) นี้ = ผู้มุ่งจะบวช (one who is faultless; an applicant [or candidate] for ordination; ordinand)
การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” คือ “นาค” ทุกคน เพราะเป็นชื่อพื้นๆ เทียบกับชื่อไทยสมัยเก่าก็เหมือนชื่อนายดำ นายแดง (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)
คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้
ในที่นี้ “นาค” หมายถึง งูใหญ่ ตามข้อ (1) และหมายถึง ผู้มุ่งจะบวช ตามข้อ (5)
“นาค” ตามความหมายดังว่านี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) นาค ๑, นาค– : (คำนาม) งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยาย. (ป., ส.).
(2) นาค ๕ : (คำแบบ) (คำนาม) ผู้ประเสริฐ, ผู้ไม่ทําบาป; เรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวช. (ป., ส.).
บาลี “นาค” สันสกฤตก็เป็น “นาค”
ขอยกคำว่า “นาค” จากสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประดับปัญญา ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นาค : (คำนาม) นาคหรืออมรเทพ, อันมีพักตร์เปนมนุษย์, มีพาลหัสต์หรือหางเปนงู, และมีกรรฐ์หรือคอเปนโคลุเพร นาค; นรเทพ จำพวกนี้ท่านว่าเกิดจาก กทรุ, ผู้วธูของกาศยป, เพื่อชไนบูรเมืองบาดาลหรือแดนนาคใต้ชนโลก; งูทั่วไป; ผณิน, งูอันเลิกหรือแผ่พังพาน; หัสดิน; กรูรบุรุษ, บุรุษผู้โหดร้ายหรือทารุณ; พลาหก; หมุด-ขอ-หรือที่แขวนของที่ฝาผนัง; ลมหาวเรอ; หมาก; ดีบุก; ตะกั่ว; ตะกั่วสีแดง; นักษัตรกาลอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า ‘กรณาสก์;’ a Nāga or demigod so called, having a human face, with the tail of a serpent, and the expanded neck of the Coluber Nāga; the race of these demigods is said to have sprung from Kadru, the wife of Kaśyapa, in order to people Pātāla or the regions below the earth; a serpent in general; a hooded snake, a cobra da capello; an elephant; a cruel person, a tyrannical person, a cloud; a pin or nail projecting from the wall to hank anything upon; one of the airs of the body, that which is expelled by belching; betel or pān; tin; lead, red lead; one of the astronomical periods called Karaṇās; – (คำวิเศษณ์) วิศิษฏ์, บรม; pre-eminent.”
(๒) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ญฺ, ทีฆะ อะ ที่ ร– เป็น อา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า ผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา. (ป., ส.).”
นาค + ราช = นาคราช ถ้าเป็นรูปคำบาลีมักเป็น “นาคราชา” (นา-คะ-รา-ชา) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “นาคผู้พระราชา” หมายความว่าไม่ใช่นาคธรรมดา แต่เป็นนาคที่มีพลังอำนาจ มีอิทธิฤทธิ์ อยู่ในฐานะเป็นเจ้าแห่งนาคทั้งหลาย แปลออกเป็นคำไทยอีกคำหนึ่งว่า “พญานาค” (ราช = พญา, นาค = นาค) ดังที่พจนานุกรมฯ ก็รับรองไว้แล้วว่า “นาคราช คือ พญานาค”
อภิปรายขยายความตามจินตนาการ :
“นาคราช” แปลตามปกติว่า “พญานาค” เป็นที่เข้าใจกัน แต่เนื่องจากในภาษาไทย คำว่า “ราช” มีความหมายว่า “อันเป็นของพระราชา” หรือ “ของหลวง” ก็ได้ เช่น –
“ราชวัง” = วังหลวง
“ราชรถ” = รถหลวง
“ราชการ” = งานหลวง
เพราะฉะนั้น “นาคราช” ก็อาจแปลสนุกๆ ได้ว่า “นาคหลวง” (ภาษาบาลีแปลจากข้างหน้าไปข้างหลังก็ได้)
คำว่า “นาคหลวง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บไว้
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “นาคหลวง” (อ่านเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20:30 น.) บอกไว้ดังนี้
…………..
นาคหลวง หมายถึง ผู้ที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบท
นาคหลวง มี 2 ประเภท1 คือ
๏ พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลขอเป็นนาคหลวง
– พระราชวงศ์ ราชสกุล ราชนิกุล นาคหลวงประเภทนี้ จะมีพิธีสมโภชในพระที่นั่งแล้วแห่ไปอุปสมบทในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
– ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร นาคหลวงประเภทนี้ จะไม่มีพิธีสมโภช เว้นแต่จะโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ
– ข้าราชการต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร พระราชทานเครื่องบริขารไปอุปสมบท ตามวัดที่ติดต่อไว้เอง (เรียกนาคหลวงประเภทนี้ว่า “นาคในพระบรมราชานุเคราะห์”)
๏ ผู้สอบภาษาบาลี ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร อายุไม่เกิน 21 ปี (เรียกนาคหลวงประเภทนี้ว่า “นาคหลวงสายเปรียญธรรม”)
……..
……..
นาคหลวงสายเปรียญธรรม
นาคหลวงสายเปรียญธรรมถือเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษาภาษาบาลีของสามเณรในวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร วัดทั่วราชอาณาจักรถือเป็นเกียรติอย่างสูงของวัดที่สามารถผลิตศาสนทายาทให้ศึกษาจนสำเร็จเปรียญ 9 ได้ขณะยังเป็นสามเณร หลายวัด จัดฉลองเพื่อแสดงมุทิตาอย่างเอิกเกริกให้แก่สามเณรเพื่อให้สังคมรู้จักกันอย่างกว้างขวาง อันจะเป็นเกียรติแก่สามเณรและครอบครัวซึ่งสนับสนุนศาสนทายาทที่มีคุณภาพได้สำเร็จ สามเณรในวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรที่ศึกษาภาษาบาลีแต่อายุยังน้อยจำนวนมากหวังว่าจะได้เป็นนาคหลวง เพราะเป็นเกียรติยศสูงสุดในด้านการศึกษาที่ผู้เป็นสามเณรจะพึงได้รับ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับการอุปสมบทไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ …
…………..
แถม :
“นาคราช” แปลสนุกๆว่า “นาคหลวง” ได้
แต่ “นาคหลวง” แปลกลับเป็น “นาคราช” คงจะไม่สนุก
เว้นไว้แต่จะสลับคำเป็น “ราชนาค” (ราด-ชะ-นาก) แปลว่า “นาค (ผู้มุ่งจะบวช) ของพระราชา” ซึ่งเป็นความหมายโดยตรงของคำว่า “นาคหลวง”
“ราชนาค” จะแปลว่า “พญานาค” ไม่ได้ เพราะผิดหลักนิยมของภาษาบาลี
ในภาษาบาลีนั้น ถ้าจะหมายถึง “พญานาค” (a serpent) คำบาลีต้องใช้ว่า “นาคราชา” (นา-คะ-รา-ชา) จะใช้ว่า “ราชนาโค” (ราด-ชะ-นา-โค = ราชนาค) ไม่ถูกหลักนิยม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เปลี่ยนคำ
: ง่ายกว่าเปลี่ยนคน
#บาลีวันละคำ (3,161)
6-2-64