บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หลักการของเถรวาท

หลักการของเถรวาท

———————

ขออัญเชิญข้อความจากคัมภีร์จุลวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๑ อันเป็นตอนที่ว่าด้วยพระอรหันตเถระ ๕๐๐ ทำปฐมสังคายนา มาให้ศึกษาโดยทั่วกันดังนี้

……………….

พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมได้เสนอญัตติต่อที่ประชุมมีข้อความดังนี้ –

(๑) ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ก็มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นกาลชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้

(๒) ถ้าที่ประชุมแห่งนี้พร้อมที่จะพิจารณาแล้ว ข้าพเจ้าขอเสนอญัตติดังนี้ (1) สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่พระบรมศาสดามิได้ทรงบัญญัติ (2) ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว (3) พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว 

(พระมหากัสสปเถระประกาศญัตติจบแล้วขอความเห็นจากที่ประชุมว่า -)

(๓) ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ญัตติที่ว่า (1) สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่พระบรมศาสดามิได้ทรงบัญญัติ (2) ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว (3) สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว ท่านผู้ใดเห็นด้วย ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ท่านผู้ใดไม่เห็นด้วย ท่านผู้นั้นพึงพูด (คือทักท้วงหรือโต้แย้ง)

(ปรากฏว่าไม่มีท่านผู้ใดทักท้วงหรือโต้แย้ง ที่ประชุมจึงได้ตราเป็นมติว่า -)

(1) สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่พระบรมศาสดามิได้ทรงบัญญัติ 

(2) ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว 

(3) สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว 

นี่คือหลักการของสงฆ์ฝ่ายเถรวาท

……………….

ผู้สนใจโปรดศึกษารายละเอียดทั้งหมดของเรื่อง รวมทั้งเหตุการณ์อื่นๆ ในช่วงเวลานั้นได้จากพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ เล่ม ๗ ข้อ ๖๑๔-๖๒๙ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๙ หน้า ๕๐๙-๕๒๙

……………….

คำถามที่ควรจะต้องถามกันคือ

๑ เราท่านในปัจจุบันนี้มีเหตุผลอะไรในการบัญญัติสิ่งใหม่ๆ ประพฤติอะไรที่แปลกไปจากที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติ พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ไม่พอไม่ครบไม่สมบูรณ์ จึงต้องมาบัญญัติเพิ่มเติมเช่นนั้นหรือ

๒ เราท่านในปัจจุบันนี้มีเหตุผลอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ไม่ถูกต้อง เป็นพระบัญญัติที่ไม่เหมาะแก่กาลเทศะ จึงปฏิบัติตามไม่ได้เช่นนั้นหรือ

……………….

คำถามนี้ไม่ได้หมายความว่า การที่เราท่านในปัจจุบันนี้บัญญัติสิ่งใหม่ๆ ประพฤติอะไรที่แปลกไปจากที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัตินั้นเป็นความผิด เป็นสิ่งไม่ดี และการที่ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้ก็เป็นความผิด เป็นสิ่งไม่ดี 

มิได้หมายความเช่นนั้น

เป็นเพียงคำถามที่ชวนให้คิด คิดหาเหตุผล คิดหาคำอธิบายที่มีเหตุมีผล สมเหตุสมผล

เพื่อที่ว่า-เมื่อเรามีเหตุผลที่ถูกต้องดีงามแน่นอนแล้ว เราจะได้บัญญัติสิ่งใหม่ๆ ประพฤติอะไรที่แปลกไปจากที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ได้อย่างมั่นใจและสบายใจว่าเราทำถูกต้องแล้ว พร้อมไปกับที่-ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้วได้อย่างมั่นใจและสบายใจว่าเราทำถูกต้องแล้วเช่นเดียวกัน

อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างตรงที่ว่า จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า คำอธิบายและเหตุผลที่เรายกขึ้นมาอ้างนั้นเป็นคำอธิบายและเป็นเหตุผลที่ถูกต้องดีงามอย่างแท้จริง หรือว่าเป็นเพียงคำอธิบายและเป็นเหตุผลที่ถูกต้องดีงามตามที่เราเข้าใจของเราเอง รวมทั้งอ้างว่าคนอื่นๆ หรือใครๆ ก็เข้าใจแบบเดียวกับที่เราเข้าใจนี่แหละ เราจึงสรุปว่าอะไรก็ตามที่คนเข้าใจแบบนั้น ทำแบบนั้นกันมากๆ หรือทำกันทั่วไป นั่นเหละคือสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

เราอาจจะต้องคิดหาเหตุผล (ในการบัญญัติและประพฤติสิ่งใหม่ๆ และในการไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติเดิม) ไปด้วย และคิดหาเกณฑ์ที่จะเอามาใช้ตัดสินเหตุผลนั้นไปด้วยพร้อมๆ กัน 

……………….

โพสต์นี้มีเจตนาเพียงชวนให้คิด ชวนให้ศึกษา ผมเชื่อว่าพระภิกษุสามเณรปัจจุบันนี้-แม้แต่ที่กำลังเรียนบาลีอยู่ก็เถอะ-ส่วนมากน่าจะยังไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกตอนที่อัญเชิญมาข้างต้นนั้น ส่วนพุทธศาสนิกชนชาวบ้านทั่วไปนั้นไม่ต้องสงสัย แทบทั้งหมดไม่ใช่เพียงไม่เคยอ่าน หากแต่ไม่เคยรู้เรื่องด้วยซ้ำไป

ปักป้ายบอกทางให้แล้ว ขอแรงตามไปศึกษากันนะครับ วิธีนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันสืบอายุพระศาสนา 

อนึ่ง วันนี้ (๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๓) เป็นวันพระ ผมถืออุโบสถศีลตามปกติ ขอแบ่งส่วนบุญให้ญาติมิตรทั้งปวง โปรดอนุโมทนาบุญโดยทั่วกันเทอญ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๗:๒๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *