ปัญหาการส่งสารกับการเสพสารสมัยใหม่
ปัญหาการส่งสารกับการเสพสารสมัยใหม่
——————————-
เสรีภาพในการแบ่งกลุ่มคำ
เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ผมเคยประมวลปัญหาใหญ่ๆ ของการใช้ภาษาไทย พบว่ามี ๓ เรื่อง คือ –
๑ เขียนผิด สะกดผิด เช่น สถิต เขียนเป็น สถิตย์
๒ อ่านผิด ออกเสียงผิด เช่น พระอรหันต์ อ่านเป็น พระ ออ-ระ-หัน คมนาคม อ่านเป็น คม-นา-คม (ส่วนเรื่อง ร-ล และคำควบกล้ำอ่านไม่ได้ จากนิสัยประจำตัว อาจจะกลายเป็นนิสัยประจำชาติไปแล้ว)
๓ ใช้คำผิดความหมาย ที่แก้ไม่หายมาจนถึงวันนี้ก็เช่นคำว่า จำวัด = พระเณรนอนหลับ (sleep) ใช้กันไปผิดๆ ว่า จำวัด = พระเณรพำนักอยู่ที่วัด (stay)
ครึ่งศตวรรษผ่านไป วันนี้ปัญหาภาษาไทยทั้ง ๓ เรื่องนั้นก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม และมีทีท่าว่าจะหนักขึ้นไปกว่าเดิม เช่นคำว่า “หนู” เวลานี้เขียนเป็น “นู๋” ไปทั่วบ้านทั่วเมืองแล้วโดยไม่มีใครเดือดร้อนหรือเห็นว่าผิดตรงไหน
และผมพบว่ามีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง นับเป็นข้อที่ ๔ คือ –
๔ แบ่งวรรคตอนผิดหรือแบ่งกลุ่มคำผิด คำที่ควรเขียนติดกัน แต่ไปเว้นวรรค คำที่ควรเว้นวรรค แต่ไปเขียนติดกัน
ส่วนการแบ่งกลุ่มคำผิด โปรดดูภาพประกอบ
ภาพแรกมีข้อความอยู่ในภาพเดียวกันพูดเรื่องเดียวกัน แต่แบ่งกลุ่มคำต่างกัน
กลุ่มทางซ้ายเขียนว่า –
…………….
รับเบอร์
เสริมความเฮง
…………….
กลุ่มทางขวาเขียนว่า –
…………….
รับเบอร์เสริม
ความรัก
…………….
จะแบ่งแบบไหน ทำไมไม่แบ่งให้มันเหมือนกัน มีเหตุผลอะไรที่แบ่งต่างกัน เป็นเสรีภาพในการใช้ภาษาหรือว่าไร ใครบอกได้บ้าง
ภาพที่สอง เป็นป้ายโฆษณาเลี่ยมกรอบพระ แบ่งกลุ่มคำดังนี้ –
…………….
เลี่ยมกรอบ
พระกันน้ำ
100%
…………….
ความหมายที่ถูกคือ –
รับเลี่ยมกรอบพระ
เป็นกรอบชนิดที่กันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
คือตกน้ำหรือเปียกฝนน้ำไม่เข้า
เป็นกรอบกันน้ำ
ไม่ใช่พระกันน้ำ
แต่พอแบ่งกลุ่มแบบนี้ เลยเกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา คือกลายเป็นว่ามีพระชนิดหนึ่ง เป็น “พระกันน้ำ” คือพระที่มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์กันน้ำได้ เป็นชุดพระศักดิ์สิทธิ์ –
พระกันปืน
พระกันไฟ
พระกันลม
พระกันน้ำ
ขลังกันไปคนละแบบ สนุกดี
…………
อีกแบบหนึ่งที่เห็นบ่อยๆ คือข้อความที่มีคำว่า และ” เชื่อม
เช่น “พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชน”
ถ้าเกิดมีการแบ่งวรรคตอน คนรุ่นใหม่เขาจะเขียนเป็น –
…………….
“พระภิกษุสามเณรและ พุทธศาสนิกชน”
…………….
ถ้าอยู่คนละบรรทัด ก็จะเป็นดังนี้
…………….
พระภิกษุสามเณรและ
พุทธศาสนิกชน
…………….
แสดงว่าความคิดรวบยอดในการแบ่งกลุ่มคำ-จับประเด็นใจความทางภาษาของคนรุ่นใหม่แปลกไปจากที่ผมเคยได้รับการอบรมเรียนรู้มาแต่เดิม
ถ้าจะอ้างว่าเกิดจากความจำกัดของพื้นที่ ก็ควรแก้ปัญหาด้วยการกำหนดพื้นที่ให้เหมาะสมก่อน ถ้าพื้นที่จำกัดจริงๆ ก็แก้ด้วยขนาดตัวอักษรหรือเทคนิคอื่นๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ไฮเทคควรจะทำได้ไม่ยาก
แต่ไม่ใช่ด้วยการแบ่งกลุ่มคำอย่างเสรีโดยไม่คำนึงถึงหลักภาษา
…………….
สาเหตุใหญ่ของปัญหาทางภาษาที่กล่าวมานี้ ผมจับเหตุผลได้ว่า เกิดจากการไม่ศึกษาเรียนรู้-โดยเฉพาะไม่ศึกษาเรียนรู้หลักวิชาของเดิม คือตะลุยไปข้างหน้า ทิ้งหลักวิชาข้างหลัง
ครูที่สอนภาษาไทยให้เด็กไทยรุ่นนี้เป็นครูที่รับหลักวิชามาจากไหนก็ไม่อาจทราบได้ – คำว่า “ไป” ท่านสอนสะกดตัวให้เด็กฟังว่า ไอ-ปอ-ไป
แต่คำว่า “ไป” คำเดียวกันนี้ ครูรุ่นที่สอนภาษาไทยให้ผมท่านสะกดตัวว่า ปอ-ไอ-ไป
อีกศตวรรษหนึ่งข้างหน้า ภาษาไทยของเราจะโลดแล่นไปถึงไหน ยากแท้ที่จะหยั่งถึง
…………….
โพสต์นี้ ถ้าจะมีใครอ่านแล้วบอกว่า “ไร้สาระ” หรือ “ว่างมากนักรึไง” ผมก็จะไม่แปลกใจเลย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๑๑:๒๒
…………………………….
…………………………….