บาลีวันละคำ

อาณาจักร (บาลีวันละคำ 3,163)

อาณาจักร

สิ่งที่คนโลภมักขยายกันไม่รู้จบ

อ่านว่า อา-นา-จัก

ประกอบด้วยคำว่า อาณา + จักร

(๑) “อาณา

เป็นคำบาลี อ่านตรงตัวว่า อา-นา รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง “อาณา” “อาชญา” และ “อาญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

(1) อาณา : (คำนาม) อํานาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ. (ป.; ส. อาชฺญา).

(2) อาชญา : (คำนาม) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา. (ส.; ป. อาณา).

(3) อาญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา).

(๒) “จักร

บาลีเป็น “จกฺก” (จัก-กะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนศัพท์ว่า “คมน” = การไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, ซ้อน กฺ ระหว่าง + กรฺ

: + กฺ + กรฺ = จกฺกรฺ + กฺวิ = จกฺกรกฺวิ > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทำให้เคลื่อนไปได้” หมายถึง ล้อ, วงล้อ, ชิ้นส่วนที่เป็นวงกลม

(2) จกฺก (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: จกฺก + = จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนแผ่นดิน” (คือบดแผ่นดิน) หมายถึง ล้อ, วงล้อ และหมายถึง กงจักร คืออาวุธรูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ สำหรับขว้างไปสังหาร

(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย, ทำ ต้นธาตุให้เป็นสองอักษร (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ทเวภาวะ” = ภาวะที่เป็นสอง : กรฺ > กกรฺ) แล้วแปลง ที่เกิดใหม่เป็น (กกรฺ > จกรฺ), แปลง เป็น กฺก, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: กรฺ + = กร > กกร > จกร > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้ทำการยึดครองได้” หมายถึง กองทัพ, กำลังพล, กำลังรบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จกฺก” ไว้ดังนี้ –

1 a wheel (of a carriage) (ล้อ [รถ])

2 a discus used as a missile weapon (แผ่นหินแบนกลมใช้เป็นอาวุธสำหรับขว้างไป)

3 a disc, a circle (แผ่นกลม, วงกลม)

4 an array of troops (ขบวนทหาร)

5 collection, set, part; succession; sphere, region, cycle (หมู่, กลุ่ม, ชุด, ส่วน; การสืบลำดับ; ถิ่น, เขตแดน, รอบ)

6 a vehicle, instrument, means & ways; attribute, quality; state, condition, esp. good condition (fit instrumentality) (ยานพาหนะ, เครื่องมือ, หนทางและวิถีทาง; คุณสมบัติ, คุณภาพ, สถานะ, สภาพ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขที่ดี [เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมได้])

บาลี “จกฺก” สันสกฤตเป็น “จกฺร” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “จักร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

จักร, จักร– : (คำนาม) อาวุธในนิยาย รูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ เช่น พระนารายณ์ทรงจักร, สิ่งที่มีลักษณะเป็นวงกลมอย่างล้อรถ เช่น จักรที่ใช้ขว้างในการกีฬา, สิ่งที่มีรูปเป็นวงกลมมีฟันเฟืองหมุนด้วยพลังงานต่าง ๆ เช่น จักรนาฬิกา, เรียกเครื่องกลบางชนิด เช่น เครื่องจักร รถจักร, เรียกเครื่องเย็บผ้าที่ใช้เดินด้วยพลังงานหรือใช้เท้าถีบหรือใช้มือหมุนว่า จักร หรือ จักรเย็บผ้า; บรรจบรอบแห่งปีหรือแห่งฤดู เช่น พฤหัสบดีจักร. (ส.; ป. จกฺก).”

อาณา + จกฺก = อาณาจกฺก (อา-นา-จัก-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “วงล้อที่หมุนไปด้วยอำนาจ

อาณาจกฺก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาณาจักร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

อาณาจักร : (คำนาม) เขตแดนที่อยู่ในอํานาจปกครองของประเทศหนึ่ง ๆ; อํานาจปกครองทางบ้านเมือง, คู่กับ ศาสนจักร ซึ่งหมายความว่า อํานาจปกครองทางศาสนา.”

ขยายความ :

คำว่า “อาณาจักร” นอกจากใช้ในความหมายตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้แล้ว ปัจจุบันยังนิยมนำไปใช้ในความหมายอื่นอีก เช่น –

ถิ่น หน่วยงาน หรือวงการ ที่ผู้ใดผู้หนึ่งมีอิทธิพลครอบงำ สามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ เป็นที่เกรงขามของคนทั้งหลาย ก็พูดกันว่า ถิ่นนั้น หน่วยงานนั้น หรือวงการนั้น เป็น “อาณาจักร” ของบุคคลผู้นั้น เช่น เมือง พ พาน เป็นอาณาจักรของตระกูล อ อ่าง เป็นต้น

หรือท้องถิ่นใดๆ ที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นชื่อลือชาเป็นที่รู้กันทั่วไป ก็พูดกันว่าถิ่นนั้นเป็น “อาณาจักร” ของสิ่งนั้น เช่น เพชรบุรีเป็นอาณาจักรของขนมหม้อแกง เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครองอาณาจักรเท่ากำปั้นได้

: ก็ครองได้ตลอดทั้งไตรโลก

#บาลีวันละคำ (3,163)

8-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย