ถาน-ตัวชี้วัดทางวัฒนธรรม
ถาน-ตัวชี้วัดทางวัฒนธรรม
————————-
คำว่า “ถาน” น่าจะตัดมาจากคำบาลีว่า “วจฺจฏฺฐาน” (วัด-จัด-ถาน)
“วจฺจฏฺฐาน” แปลว่า “ที่ถ่ายอุจจาระ”
“วจฺจฏฺฐาน” เขียนอย่างไทยเป็น “วัจฐาน” อ่านว่า วัด-จะ-ถาน แล้วกร่อนเหลือเพียง “ฐาน” และเขียนตามเสียงพูดเป็น “ถาน” ในที่สุด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
“ถาน : (คำนาม) ส้วมของพระ.”
คำว่า “ถาน” = ส้วมของพระ เป็นคำเก่าที่คนรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จัก
สมัยก่อน พระที่บวชแล้วไม่ท่องบ่นบทสวดมนต์ให้จำได้ เวลาจะสวดมนต์ต้องเอาหนังสือไปแอบกางสวด (สมัยนี้ไม่ต้องแอบ แต่กางกันอย่างเปิดเผย และภาคภูมิใจอีกต่างหาก!) คนเก่ามีคำตำหนิว่า –
“ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ”
บอกถึงความล้มเหลวในชีวิตนักบวชของผู้นั้น
…………..
วัดสมัยก่อน โดยเฉพาะวัดตามชนบท กุฏิสงฆ์ไม่มีห้องน้ำในตัวเหมือนอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ แต่ละวัดจึงต้องมีที่สรงน้ำรวม และมี “ถาน” เป็นส่วนกลาง (ที่สรงน้ำและถานแยกกันอยู่คนละที่)
ถานที่ใช้ร่วมกันเช่นนี้มักสกปรก และยิ่งในสมัยที่ส้วมซึมยังไม่มีแพร่หลาย ความสกปรกก็ยิ่งมีได้ง่ายและมีได้มากขึ้น
เจ้าคณะผู้ปกครองสมัยก่อนเวลาไปตรวจความเรียบร้อยตามวัดต่างๆ ท่านจึงมักแนะนำกันให้ตรวจ ๒ แห่ง คือโบสถ์แห่งหนึ่ง และถานอีกแห่งหนึ่ง โดยมีเหตุผลว่า โบสถ์เป็นสถานที่สูงสุด ถานเป็นสถานที่ต่ำสุด และทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญและจำเป็นที่สุดภายในวัด
ถ้าสถานที่ทั้ง ๒ แห่งนี้สะอาดเรียบร้อย ก็อาจอนุมานได้ว่าการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ของวัดนั้นก็ควรจะดำเนินไปในทางที่เจริญดีงามด้วยเช่นกัน
…………..
พระสมัยก่อนเมื่อลาสิกขาแล้ว มีคตินิยมยับยั้งอยู่ภายในวัดและสมาทานศีลเคร่งครัดเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ วันจึงจะออกจากวัดกลับบ้าน
ในระหว่างเป็น “ทิด” อยู่วัดก็จะถือโอกาสทำความสะอาดถานเป็นการใหญ่ไปด้วย โดยถือคติว่า ตลอดเวลาที่บวชอยู่ได้ถ่ายหนักถ่ายเบาทำความสกปรกไว้เป็นอันมาก เมื่อจะจากวัดไปเป็นคฤหัสถ์ดังเดิมจึงควรชำระล้างถานให้สะอาดเสมือนเป็นการไถ่โทษ ชีวิตฆราวาสจะได้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทินติดตัวไปจากวัด
ปัจจุบันคติดังกล่าวนี้น่าจะสูญไปแล้ว เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป
การล้างถานจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เราปล่อยให้สูญไปกับกาลเวลา
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๑๒:๑๓
…………………………….