บุปผชาติ ไม่ใช่ “บุปผาชาติ” (บาลีวันละคำ 3,172)
บุปผชาติ ไม่ใช่ “บุปผาชาติ”
อย่าพูดให้เพี้ยน อย่าเขียนให้ผิด
อ่านว่า บุบ-ผะ-ชาด
ประกอบด้วย บุปผ + ชาติ
(๑) “บุปผ”
บาลีเป็น “ปุปฺผ” อ่านว่า ปุบ-ผะ รากศัพท์มาจาก ปุปฺผฺ (ธาตุ = แย้ม, บาน) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุปฺผ + อ = ปุปฺผ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่แย้มบาน” (2) “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้”
“ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แย้มบาน” หมายถึง ดอกไม้ (a flower) เป็นความหมายทั่วไป
“ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้” หมายถึง เลือด (blood) เป็นความหมายเฉพาะในบางแห่ง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงระดูของสตรี (the menses)
บาลี “ปุปฺผ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุปผ” และ “บุปผา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุปผ-, บุปผา : (คำนาม) ดอกไม้. (ป. ปุปฺผ; ส. ปุษฺป).
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.
(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (8) ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “ศัพท์ สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) หมายถึงคำที่นำมาต่อท้ายคำอื่น แต่คำนั้นคงมีความหมายเท่าเดิม (“สกรรถ” : สก = ของตน + อรรถ = ความหมาย)
ปฺปผ + ชาติ = ปฺปผชาติ (ปุบ-ผะ-ชา-ติ) ในภาษาบาลีมีความหมายเท่ากับ “ปฺปผ” คำเดียว เนื่องจาก “ชาติ” เป็นศัพท์ สกรรถ
“ปฺปผชาติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุปผชาติ” (บุบ-ผะ-ชาด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุปผชาติ : (คำนาม) ดอกไม้, พวกดอกไม้. (ป.).”
ข้อสังเกต :
ในภาษาไทย คำว่า “บุปผชาติ” มักมีผู้พูดเป็น บุบ-ผา-ชาด แล้วเลยพลอยเขียนเป็น “บุปผาชาติ” ไปด้วย อาจเป็นเพราะเราคุ้นกับคำว่า “บุปผา” แต่ไม่คุ้นกับ “บุปผ”
โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า คำนี้สะกด “บุปผชาติ” อ่านว่า บุบ-ผะ-ชาด
ถ้าเรายังปล่อยตัวตามสบาย พูดเป็น บุบ-ผา-ชาด เขียนเป็น “บุปผาชาติ” กันอยู่เรื่อยๆ เชื่อว่าอีกไม่นานพจนานุกรมฯ ก็คงจะต้องบอกว่าคำนี้ใช้ว่า “บุปผาชาติ” ก็มี แล้วก็จะมีนักวิชาการออกมารับรองว่าภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีผิดไม่มีถูก
ซึ่งนั่นไม่ใช่อะไรเลย หากแต่คือการยอมอ่อนข้อให้แก่ความมักง่ายโดยแท้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พยายามเรียนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก
: ง่ายกว่าพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูก
#บาลีวันละคำ (3,172)
17-2-64