บาลีวันละคำ

ปัญญาอับ – อัปปัญญา (บาลีวันละคำ 3,908)

ปัญญาอับ – อัปปัญญา

ลากเข้าหาบาลี

“ปัญญาอับ” เป็นคำไทย อ่านว่า ปัน-ยา-อับ

“อัปปัญญา” เป็นคำบาลี อ่านว่า อับ-ปัน-ยา

(๑) “ปัญญา”

เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺญา” อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: ป + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง”

“ปญฺญา” หมายถึง ความฉลาด, เหตุผล, ความรอบรู้, การเล็งเห็น, ความรู้, ความระลึกรู้ (intelligence, reason, wisdom, insight, knowledge, recognition)

จากความหมายของคำอุปสรรค “ป = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก” นักอธิบายธรรมะนิยมขยายความคำว่า “ปญฺญา” ว่า –

(1) “ทั่ว” = รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

(2) “ข้างหน้า” = รู้ล่วงหน้า คือรู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร

(3) “ก่อน” = รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

(4) “ออก” = รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

หลักภาษา :

(1) ปญฺญา เป็นคำนาม แปลว่า “ความรู้” เรานิยมทับศัพท์ว่า ปัญญา

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง “ผู้มีปัญญา” แจกรูปตามรูปปุงลิงค์ (คำเพศชาย) เอกวจนะ รูปคำจะเป็น “ปญฺโญ” (ปัน-โย)

(3) ปญฺโญ รูปก่อนแจก คือ “ปญฺญ” (ปัน-ยะ) ก็คือ “ปญฺญา” นั่นเอง แต่แปลงรูปจาก “ปญฺญา” (คำนาม) กลายเป็น “ปญฺญ” (คำวิเศษณ์หรือคุณศัพท์) ซึ่งตรงกับสันสกฤตว่า “ปฺราชฺญ”

(4) ถ้ารูปเดิมยังเป็น “ปญฺญา” (คำนาม ไม่ใช่คุณศัพท์) สันสกฤตจะเป็น “ปฺราชฺญา” ตรงกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ปรัชญา”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”

(๒) “อับ”

เป็นภาษาไทย ในทางไวยากรณ์ท่านจัดเป็น “คำวิเศษณ์” คือคำที่ใช้ขยายความ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บเป็น “อับ ๒” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(๑) ไม่มีลมเข้าออก, ไม่โปร่ง, เช่น อากาศอับ, ไม่เคลื่อนไหว เช่น ลมอับ

(๒) ไม่มีตาไป (ใช้แก่หมากรุก)

(๓) โง่ เช่น ปัญญาอับ

(๔) ถึงที่อับจน, ถึงคราวชะตาตก, เช่น ตกอับ

(๕) มัวหมอง เช่น อับเศร้าหมองศรี

(๖) มืด เช่น อับทิศ คือ มืดทุกทิศ

(๗) อาการที่นกเขาซึ่งเคยขันแล้วกลับไม่ขัน

(๘) ลักษณะของกลิ่นซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่มีอากาศผ่าน เช่น เหม็นอับ.

โปรดสังเกตความหมายที่ (๓) พจนานุกรมฯ ให้ตัวอย่างว่า “ปัญญาอับ” คือที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำวันนี้

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ปัญญาอับ” น่าจะชวนให้นักเรียนบาลีนึกถึงคำบาลีว่า “อปฺปญฺญ” อ่านว่า อับ-ปัน-ยะ รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + ปญฺญา, ซ้อน ญฺ ระหว่างบทหน้ากับบทหลัง (น + ปฺ + ปญฺญา), แปลง น เป็น อ

: น + ปฺ + ปญฺญา = นปฺปญฺญา > อปฺปญฺญา > อปฺปญฺญ (ปุงลิงค์) แปลว่า “ผู้ไม่มีปัญญา”

“อปฺปญฺญ” (อับ-ปัน-ยะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัปปัญญา” (อับ-ปัน-ยา)

ถ้าสะกดล้อคำไทย “ปัญญาอับ” เป็น “อับปัญญา” ก็กลมกลืนกันดี

แสดงมาทั้งนี้เป็น “ภาษากีฬา” คือการออกกำลังทางภาษา เอาภาษาบาลีมาคิดเฟื่องไปทำนองเล่นสนุก แต่เป็นการลับสมองไปในตัว

เพื่อให้เป็นสาระ ขอนำพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอในที่นี้ ดังนี้

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปความหมายของ “ปัญญา” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปัญญา : ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนินการ ทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [93] ปัญญา 3 อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

ปัญญา 3 (ความรอบรู้, รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง — Paññā: wisdom; knowledge; understanding)

1. จินตามยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา, ปัญญาสืบแต่โยนิโสมนสิการที่ตั้งขึ้นในตนเอง — Cintāmaya-paññā: wisdom resulting from reflection; knowledge that is thought out)

2. สุตมยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน, ปัญญาสืบแต่ปรโตโฆสะ — Sutamayapaññā: wisdom resulting from study; knowledge that is learned from others)

3. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ, ปัญญาสืบแต่ปัญญาสองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการในประดาสภาวธรรม — Bhāvanāmaya-paññā: wisdom resulting from mental development; knowledge that is gained by development or practice)

…………..

ดูก่อนภราดา!

เชิญผู้มีปัญญาพิจารณาดูเถิด –

: รวยทรัพย์ แต่อับศรัทธาที่จะให้อะไรใคร

: จะต่างอะไรกับคนที่อับจนทรัพย์

#บาลีวันละคำ (3,908)

23-02-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *