บาลีวันละคำ

สมมุติสงฆ์ (บาลีวันละคำ 886)

สมมุติสงฆ์

อ่านว่า สม-มุด-ติ-สง

บาลีเป็น “สมฺมุติสงฺฆ” อ่านว่า สำ-มุ-ติ-สัง-คะ

ประกอบด้วย สมฺมุติ + สงฺฆ

(๑) “สมฺมุติ

รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + มุติ

มุติ” มาจาก มุ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย : มุ + ติ = มุติ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้” หมายถึง ญาณ, ปัญญา, ความรู้, ความเข้าใจ, สติปัญญา, การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์

สํ + มุติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ : สํ > สมฺ + มุติ = สมฺมุติ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน

คำว่า “สมฺมุติ” อาจมีรูปคำเป็น “สมฺมต” (สำ-มะ-ตะ) หรือ “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) ได้อีก มีความหมายในทำนองเดียวกัน

ภาษาไทยใช้เป็น –

: สมมต อ่านว่า สม-มด

: สมมติ อ่านว่า สม-มด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า สม-มด-ติ-

: สมมุติ อ่านว่า สม-มุด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า สม-มุด-ติ-

อย่างไรก็ตาม เสียงที่ได้ยินพูดกันมากที่สุดคือ สม-มุด = สมมุติ

สมมต, สมมติ, สมมุติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) “รู้สึกนึกเอาว่า” เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง

(2) “ต่างว่า, ถือเอาว่า” เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ ๑ จะไปเที่ยวรอบโลก

(3) “ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง” เช่น สมมติเทพ

(๒) “สงฆ์” บาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ

สงฺฆ” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน

(ดูเพิ่มเติมที่ : “สงฆ์” บาลีวันละคำ (884) 19-10-57)

สมมุติ + สงฺฆ = สมมุติสงฺฆ > สมมุติสงฆ์ แปลตามประสงค์ว่า “ผู้เป็นสงฆ์โดยสมมุติ” หมายความว่า เป็นผู้ที่สังคมยอมรับตกลงกันเองโดยปริยายว่าเป็น “สงฆ์” โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง

สมมุติสงฆ์” มักใช้เมื่อกล่าวเทียบกับ “อริยสงฆ์” ทั้งนี้แสดงนัยว่า “สงฆ์” ที่แท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นคือพระอริยบุคล (ผู้บรรลุภูมิธรรมตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป) หรือ “สาวกสงฆ์” นั่นคือหมายถึงสงฆ์อันเป็น 1 ในรัตนะ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า แม้ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนก็มีสถานะเป็น “สงฆ์” ได้ด้วย โดยเป็น “สมมุติสงฆ์” คือ “ผู้เป็นสงฆ์โดยสมมุติ

การเคารพในสมมุติสงฆ์โดยตั้งจิตระลึกถึงอริยสงฆ์ ท่านว่ามีผลเท่ากับได้ปฏิบัติเช่นนั้นต่ออริยสงฆ์โดยตรง ดังพระพุทธพจน์ในทักขิณาวิภังคสูตรว่า

“ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีความชั่วช้าเป็นปกติ คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น

ดูก่อนอานนท์ ทักขิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวว่าปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าทักขิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย”

คำว่า “ภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ” นี่เองคือเราพูดถึงกันว่า เป็นสงฆ์ชนิด “ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู” อันเป็นชั้นต่ำสุดของสมมุติสงฆ์ แม้ถึงเช่นนั้นก็ยังตรัสว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์ชนิดนั้นโดยระลึกถึงอริยสงฆ์ยังมีผลมากกว่าที่ถวายเฉพาะเจาะจงแม้แก่พระพุทธเจ้า

: สมมุติไม่ใช่เรื่องจริง

: แต่เมื่อสมมุติให้เป็นอะไร ต้องเป็นให้จริง

#บาลีวันละคำ (886)

21-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *