บาลีวันละคำ

พระราชทาน (บาลีวันละคำ 3,185)

พระราชทาน

คุ้นกันมานาน จนลืมเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-ทาน

ประกอบด้วยคำว่า พระ + ราช + ทาน

(๑) “พระ

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๓) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป.”

การประสมคำ :

๑ ถ้าใช้เป็นคำนาม แปลว่า “ทานของพระราชาอันประเสริฐ

(1) ราช + ทาน = ราชทาน แปลว่า “ทานของพระราชา

(2) พระ + ราชทาน = พระราชทาน แปลว่า “ทานของพระราชาอันประเสริฐ” (“ทาน-อันประเสริฐ” ไม่ใช่ “พระราชาอันประเสริฐ”)

๒ ถ้าใช้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ แปว่า “พระราชาให้

พระราช + ทาน = พระราชทาน แปลว่า “พระราชาให้” เทียบกับคำว่า “ประทาน” ซึ่งหมายถึง “เจ้านาย (ต่ำกว่าพระราชา) ให้

พระราชทาน” ในความหมายนี้ เทียบคำอื่นๆ ที่มีฐานะเดียวกัน เช่น –

พระราชกระแส” = คำพูดหรือคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูง

พระราชดำริ” = พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงทรงคิดหรือไตร่ตรอง

พระราชปริวิตก” = พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงทรงนึกเป็นทุกข์หนักใจ

พระราชทาน” = พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงทรงให้

๓ ถ้าใช้เป็นคำคุณศัพท์ จะประสมเป็น พระ + ราชทาน = พระราชทาน หรือ พระราช + ทาน = พระราชทาน ก็ได้ หมายถึง “-ที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงให้มา” ใช้ประกอบคำนาม คือพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายชั้นสูงพระราชทานสิ่งใดมา ก็เอาคำว่า “พระราชทาน” ต่อท้ายชื่อสิ่งนั้น เช่น

– ถุงยังชีพพระราชทาน

– ผ้าไตรพระราชทาน

– ดอกไม้พระราชทาน

– หนังสือพระราชทาน

ข้อสังเกต :

คำว่า “ประทาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประทาน : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ให้ (ใช้แก่เจ้านาย). (ส.).”

น่าสังเกตว่า “ประทาน” ซึ่งเป็นคำกริยาราชาศัพท์มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ แต่ “พระราชทาน” ซึ่งเป็นคำกริยาราชาศัพท์เช่นเดียวกันกลับไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

ถ้าบอกว่า พจนานุกรมฯ ของเราไม่ใช่คลังสรรพศัพท์ (สับ-พะ-สับ, = มีคำหมดทุกคำ) มีคำอีกนับร้อยคำที่น่าจะมีในพจนานุกรมฯ แต่ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าพจนานุกรมฯ จะไม่ได้เก็บคำว่า “พระราชทาน” ไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย

ถ้าผู้มีส่วนรับผิดชอบคิดแบบนี้ สิ่งที่จะทำได้ก็มีอย่างเดียว คือทำใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเล่นกับของพระราชทาน

: แม้จะพระราชทานของเล่น

#บาลีวันละคำ (3,185)

2-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย