บาลีวันละคำ

อนุโมทนาบัตร – ใบอนุโมทนา (บาลีวันละคำ 3,186)

อนุโมทนาบัตรใบอนุโมทนา

ไม่ใช่ “ใบอนุโมทนาบัตร”

คำที่ควรศึกษาคือ อนุโมทนา + บัตร

(๑) “อนุโมทนา

บาลีเป็น “อนุโมทน” อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท)

: อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี

อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี

อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้ –

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”

(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”

(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”

(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า –

“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)

บาลี “อนุโมทน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุโมทนา

บาลีเป็นคำนาม เอามาใช้ในภาษาไทยเป็นคำกริยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุโมทนา : (คำกริยา) ยินดีตาม, ยินดีด้วย, พลอยยินดี; เรียกคําให้ศีลให้พรของพระว่า คําอนุโมทนา. (ป., ส.).”

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน

ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

อนุโมทนา + บัตร = อนุโมทนาบัตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุโมทนาบัตร : (คำนาม) บัตรที่แสดงความพลอยยินดีหรืออนุโมทนาต่อบุญกุศลที่บุคคลนั้น ๆ ได้ทําแล้ว.”

ขยายความ :

ตามมติมหาเถรสมาคมที่ 503/2563 ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ 20/2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 มหาเถรสมาคมเห็นชอบให้ “อนุโมทนาบัตร” ที่วัดต่างๆ ออกให้แก่ผู้บริจาคเงินต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. อนุโมทนาบัตรต้องมีเลขที่ เล่มที่ วัน เดือน ปี ที่บริจาค หรือออกอนุโมทนาบัตร

2. ต้องระบุชื่อผู้บริจาค ทั้งที่เป็นบุคคลทั่วไป หรือบริษัทห้างร้าน ให้ถูกต้อง

3. ต้องระบุจำนวนเงินที่ได้รับบริจาค ทั้งที่เป็นตัวเลขและตัวอักษร ตามที่ได้รับบริจาคจริง

4. ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการบริจาคให้ชัดเจน ว่าบริจาคเพื่อการใด

5. ต้องระบุชื่อวัด และสถานที่ตั้งของวัดให้ชัดเจน (ตำบล อำเภอ จังหวัด)

6. ต้องลงลายมือชื่อผู้รับเงิน พร้อมทั้งวงเล็บชื่อ – สกุล และตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายจากวัด

7. ผู้มีอำนาจออกอนุโมทนาบัตร ต้องลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งวงเล็บชื่อเต็ม และตำแหน่ง รวมทั้งประทับตราวัดนั้นๆ ที่ออกอนุโมทนาบัตร

8. ใส่หมายเลขโทรศัพท์/อีเมล

…………..

ที่มา: บันทึกมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20/2563 สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม

…………..

หมายเหตุ: บันทึกมติมหาเถรสมาคม ของสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการ ใช้คำว่า “ใบอนุโมทนาบัตร” ทุกแห่ง เป็นการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง (ดูภาพประกอบ)

อภิปราย :

คำว่า “อนุโมทนาบัตร” มักมีผู้เขียนหรือพูดเป็น “ใบอนุโมทนาบัตร

โปรดทราบว่า คำว่า “ใบอนุโมทนาบัตร” เป็นคำที่ผิดหลักภาษา เพราะ “บัตร” แปลว่า “ใบ” อยู่แล้ว และ “ใบ” ก็หมายถึง “บัตร” อยู่แล้วเช่นกัน

เทียบได้กับคำว่า “ประกาศนียบัตร” ไม่ใช่ “ใบประกาศนียบัตร” อันเป็นคำที่ผิดหลักภาษา ผู้ที่หนักในหลักวิชาย่อมไม่ใช้เช่นนี้

จำไว้สั้นๆ “มีบัตรไม่ต้องมีใบ มีใบไม่ต้องมีบัตร

ถ้าอยากจะใช้คำว่า “ใบ” ก็ใช้ว่า “ใบอนุโมทนา”

ถ้าอยากจะใช้คำว่า “บัตร” ก็ใช้ว่า “อนุโมทนาบัตร

อย่าอัดกันเข้าไปทั้ง “ใบ” ทั้ง “บัตร”

อย่าช่วยกันสมมุติผิดให้กลายเป็นถูก

อย่าเห็นว่าผิดไม่เป็นผิด

และอย่าเห็นว่าแม้ผิดก็ไม่เป็นโทษเป็นภัย เป็นเรื่องเล็ก ไม่ต้องแก้ไขอะไร ปล่อยให้คงเป็นผิดอยู่อย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครมาเอาผิดหรือลงโทษอะไรได้

เห็นผิดไม่เป็นโทษเป็นภัยได้เรื่องหนึ่ง ต่อไปก็จะเห็นอย่างนั้นได้ทุกเรื่อง และสามารถทำผิดได้ทุกเรื่องโดยไม่เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย

นั่นคือหายนะ ทั้งแก่ส่วนตัวบุคคล และแก่ส่วนรวม จนถึงชาติบ้านเมืองเป็นที่สุด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่รู้ น่าเห็นใจ

: รู้แล้วไม่แก้ไข น่าสลดใจ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

#บาลีวันละคำ (3,186)

3-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย