บาลีวันละคำ

เนตรนารี (บาลีวันละคำ 3,187)

เนตรนารี

อ่านตามความนิยมว่า เนด-นา-รี

ประกอบด้วยคำว่า เนตร + นารี

(๑) “เนตร

รูปศัพท์เท่าที่ตาเห็นตรงกับบาลีว่า “เนตฺต” (เนด-ตะ) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ (นี > เน), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย

: นี + ตฺ + = นีตฺต > เนตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่นำไปให้ถึงที่

“เนตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้นำทางหรือชี้ทาง (a guide)

(2) การแนะนำ, สิ่งที่นำทาง, สื่อ (guidance, anything that guides, a conductor)

(3) ความหมายเชิงอุปมา = นัยน์ตา (the eye)

บาลี “เนตฺต” ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “เนตร” (ดูความหมายในสันสกฤตข้างหน้า)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เนตร : (คำแบบ) (คำนาม) ตา, ดวงตา. (ส.; ป. เนตฺต); ผู้นําทาง เช่น เนตรนารี.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้เป็น –

เนตร : (คำแบบ) (คำนาม) ตา, ดวงตา; ผู้นำทาง. (ส.; ป. เนตฺต).”

ส่วนที่ปรับแก้ก็คือ พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “เนตร” ที่แปลว่า “ตา, ดวงตา” มาจากบาลีสันสกฤต แต่ “เนตร” ที่แปลว่า “ผู้นําทาง” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร

พอมาถึงพจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 บอกว่า “เนตร” ทั้งที่แปลว่า “ตา, ดวงตา” ทั้งที่แปลว่า “ผู้นำทาง” มาจากบาลีสันสกฤตทั้ง 2 ความหมาย และยังได้ตัดตัวอย่าง คือ “เช่น เนตรนารี” ออกไป

(๒) “นารี

รากศัพท์มาจาก นร + ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “นร” (นะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, ลบ อี ที่ นี (นี > ) (ภาษาไวยากรณ์พูดว่า “ลบสระหน้า)

: นี > + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่

(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + (อะ) ปัจจัย

: นรฺ + = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

นร” หมายถึง คน ในบางบริบทหมายถึง “ผู้ชาย” โดยเฉพาะ (man, in poetry esp. a brave, strong, heroic man)

(ข) นร + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นศัพท์เป็น อา (ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ”) (นร > นาร) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นร + = นรณ > นร > นาร + อี = นารี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นของชายเพราะคู่กับชาย

นารี” ในบาลีหมายถึง สตรี, ภรรยา, ผู้หญิง (woman, wife, female)

เนตร + นารี = เนตรนารี

คำนี้พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้

ถ้าอ่านตามหลักภาษาก็อ่านว่า เนด-ตฺระ-นา-รี แต่เท่าที่ฟังมา ไม่มีใครอ่านเช่นนี้ มีแต่อ่านกันว่า เนด-นา-รี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เนตรนารี : (คำนาม) เด็กหญิงที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้นำในทางความประพฤติ, สมาชิกแห่งองค์การที่มีวัตถุประสงค์ในการฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยเด็กหญิงให้เป็นพลเมืองดีตามจารีตประเพณี มีอุดมคติ และความรับผิดชอบตัวเองและต่อผู้อื่นเป็นต้น.”

ขยายความ :

เนตรนารี” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า girl guide หรือบางทีใช้คำว่า girl scout คู่กับ “ลูกเสือ” คำอังกฤษว่า boy scout

เมื่อบัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า girl guide จึงต้องพิจารณากันใหม่ว่า “เนตร” แปลว่าอะไรกันแน่ ทั้งนี้เพราะ guide ไม่ได้แปลว่า “ตา, ดวงตา” แต่แปลว่า “ผู้นำทาง”

ในภาษาบาลี “ดวงตา” กับ “ผู้นำทาง” ใช้ศัพท์คนละคำกัน “ดวงตา” ใช้ว่า “เนตฺต” ดังแสดงรากศัพท์ไว้ข้างต้น ส่วน “ผู้นำทาง” บาลีมีศัพท์เฉพาะว่า “เนตุ” (แม้ว่า “เนตฺต” จะหมายถึง “ผู้นำทาง” หรือ a guide ได้ด้วยก็ตาม-ดูความหมายของ “เนตฺต” ข้างต้น)

เนตุ” (เน-ตุ) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ตุ ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ (นี > เน)

: นี + ตุ = นีตุ > เนตุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เนตุ” ว่า a leader, guide, forerunner (ผู้นำ, ผู้ชี้ทาง, ผู้ไปก่อน)

บาลี “เนตุ” สันสกฤตเป็น “เนตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เนตฺร : (คำนาม) ‘เนตร,’ ผู้นำ; จักษุส, ตา, ไนยน์ตาหรือนัยน์ตา; รากไม้; ไหมฟอก; รถ; กระบอกฉีดสำหรับฉีดยาเข้าทางทวารหนัก; หลอดทั่วไป; นที; พระลักษมี; a leader, a guide; the eye; the root of a tree; bleached silk; a car, a carriage; an enema-pipe, a pipe for throwing or sending liquid medicine into the rectum; any tubular vessel or pipe; a river; the goddess Lakshmi.”

โปรดสังเกตว่า ความหมายเด่นของ “เนตฺร” ในสันสกฤตคือ a leader, a guide ตรงกับที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เนตุ” ว่า a leader, guide (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “เนตุ” ว่า the eye)

มีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ บาลี “เนตุ” เขียนเป็นอักษรโรมันตามความเข้าใจทั่วไปก็ควรจะเป็น netu แต่ถ้าดูพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) จะไม่พบคำที่สะกดเป็น netu แต่จะมีคำที่สะกดเป็น netar (ดูภาพประกอบ) ถอดเป็นอักษรไทยเป็น “เนตรฺ” (มีจุดใต้ รฺ) เขียนเป็นคำไทยก็คือ “เนตร” เช่นในคำว่า “เนตรนารี” นี่เอง

netar หรือ “เนตรฺ” ก็คือคำบาลีที่อักขรวิธีไทยสะกดเป็น “เนตุ” นั่นเอง กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “เนตรฺ” ก็คือ “เนตุ” ที่สะกดอิงสันสกฤต

คำเทียบอีกคำหนึ่งคือ “มาตุ” แจกวิภัตติเป็น “มาตา” ที่เราแปลกันว่า มารดา หรือแม่ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็ไม่ได้สะกดเป็น mātu แต่สะกดเป็น mātar (ดูภาพประกอบ)

เป็นอันว่า “เนตร” ในคำว่า “เนตรนารี” นี้ไม่ได้หมายถึง ตา หรือดวงตา คำบาลีว่า “เนตฺต” (เนด-ตะ) แต่หมายถึง ผู้นำทาง คำบาลีว่า “เนตุ

ทั้ง “เนตฺต” และ “เนตุ” เราเอามาเขียนเป็นไทยว่า “เนตร” เหมือนกัน แต่พึงทราบว่า “เนตร” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ตา หรือดวงตา แม้ “เนตร” จะหมายถึง ตา หรือดวงตา ได้ด้วยก็ตาม

แถม :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “เนตรนารี” (อ่านเมื่อ 4 มีนาคม 2564 เวลา 20:50 น.) บอกไว้ดังนี้ –

…………..

เนตรนารี (อังกฤษ: Girl Guide หรือ Girl Scout) เป็นกิจกรรมสำหรับเด็กหญิงอายุตั้งแต่ 10-17 ปี ที่ดำเนินงานควบคู่ไปกับการลูกเสือสำหรับเด็กชาย เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909) เมื่อมีเด็กหญิงต้องการเข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือ ลอร์ดโรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ ปฏิเสธที่จะให้เด็กหญิงเข้าร่วม แต่ให้น้องสาว คือ แอกเนส เบเดน โพเอลล์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมสำหรับเด็กหญิงขึ้นต่างหาก

กิจกรรมเนตรนารีเจริญก้าวหน้าขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาโดย Juliette Low, ในโปแลนด์โดย Olga Malkowska และในฝรั่งเศสโดย Antoinette Butte

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อนำ อย่าลังเล

: เมื่อตาม อย่าโลเล

#บาลีวันละคำ (3,187)

4-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย