บาลีวันละคำ

บรรณพิภพ (บาลีวันละคำ 3,191)

บรรณพิภพ

บางทีจะพบกับความล่มสลาย

อ่านว่า บัน-นะ-พิ-พบ

ประกอบด้วยคำว่า บรรณ + พิภพ

(๑) “บรรณ

บาลีเป็น “ปณฺณ” (ปัน-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปูร (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปูร เป็น ปณฺณ

: ปูรฺ + = ปูร > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น)

(2) ปต (ธาตุ = ตกไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น ณฺณ

: ปตฺ + = ปต > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน

(3) ปณฺณฺ (ธาตุ = เขียวสด) + (อะ) ปัจจัย

: ปณฺณฺ + = ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เขียวสด

ปณฺณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ใบไม้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบพลู) (a leaf [esp. betel leaf])

(2) ใบไม้ที่ใช้เขียน, ใบไม้ที่มีหนังสือจารึกอยู่, จดหมาย; ของบริจาค, เครื่องบรรณาการ (a leaf for writing upon, written leaf, letter; donation, bequest)

(3) ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)

ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย

ปณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณ, บรรณ– : (คำนาม) ปีก; หนังสือ; ใบไม้. (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).”

(๒) “พิภพ

ตามรูปศัพท์เทียบกลับเป็นบาลีตรงกับ “วิภว” อ่านว่า วิ-พะ-วะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว)

: วิ + ภู = วิภู + = วิภูณ > วิภู > วิโภ > วิภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” (2) “สิ่งอันผู้คนใช้สอยโดยพิเศษ” (3) “ภาวะที่ปราศจากความมี” (4) “ภาวะที่ไม่มี

วิภว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) อำนาจ, ความมั่งคั่ง, ความรุ่งเรือง (power, wealth, prosperity)

(2) วิภพ, ความไม่ทรงอยู่, ความสิ้นสุดแห่งชีวิต, การดับสูญ (non-existence, cessation of life, annihilation)

วิภว” ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ จึงเป็น “พิภพ

ที่ว่ามานี้ว่าตามรูปศัพท์ที่อาจเป็นได้เช่นนี้ แต่ในภาษาไทย “พิภพ” มีความหมายต่างไปจากบาลีอยู่บ้าง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิภพ : (คำนาม) โลก เช่น ในพื้นพิภพ นอกพิภพ, ที่อยู่ของนาคในชั้นบาดาล เรียกว่า นาคพิภพ; ทรัพย์สมบัติ เช่น ผ่านพิภพ คือ ครองสมบัติ.”

บรรณ + พิภพ = บรรณพิภพ (บัน-นะ-พิ-พบ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณพิภพ, บรรณโลก : (คำแบบ) (คำนาม) วงการหนังสือ.”

บรรณพิภพ” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย ไม่มีรูปศัพท์เช่นนี้ในบาลี

อภิปราย :

คำว่า “บรรณพิภพ” หรือ “โลกแห่งหนังสือ” เป็นร่องรอยทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกว่า สังคมของเรามีนักอ่าน คือผู้แสวงหาปัญญาความรู้และความรื่นรมย์แห่งชีวิตอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโลกแห่งหนึ่ง

ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้โลกหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษถูกกระทบจนกระเทือนอย่างแรงทั่วไป หนังสือที่เป็นเล่มกระดาษลดจำนวนลงเรื่อยๆ นั่นหมายถึง “บรรณพิภพ” ต้องเปลี่ยนแปลงไป อาจถึงระดับที่สลายตัวไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ฉลาด ย่อมสามารถค้นหาและพบ “บรรณพิภพ” ได้เสมอในรูปแบบอื่น แต่เนื้อแท้ก็ยังคงเป็น “บรรณพิภพ” อยู่นั่นเอง ขอเพียงมีหัวใจใฝ่รู้เท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หนังสือมีไว้สำหรับอ่าน

: อาหารมีไว้สำหรับกิน

: ถ้าเก็บหนังสือไว้เป็นวัตถุโบราณ

: ก็เท่ากับเก็บอาหารไว้เป็นก้อนดิน

อาจเป็นรูปภาพของ เด็ก และหนังสือ

#บาลีวันละคำ (3,191)

8-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย