วันทำบุญครบกี่วันของผู้ตาย (บาลีวันละคำ 1,599)
วันทำบุญครบกี่วันของผู้ตาย
ใช้คำเรียกอย่างไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นภาพถ่ายเอกสาร “หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล” ใช้คำเรียกดังนี้ –
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (๗ วัน)
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (๑๕ วัน)
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (๕๐ วัน)
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตมวาร (๑๐๐ วัน)
ศัพท์ที่ควรรู้ก่อน คือ “ม” และ “วาร” ที่อยู่ท้ายคำ
(๑) “ม” (มะ) เป็นปัจจัย ใช้ประกอบเข้าข้างท้ายศัพท์สังขยา
“สังขยา” คือคำที่ใช้เรียกจำนวน มี 2 ชนิด คือ –
(1) “ปกติสังขยา” คือคำบอกจำนวนของสิ่งที่นับ เช่น (ภาษาไทย) “5 คน”
“5” คือปกติสังขยา
(2) “ปูรณสังขยา” คือคำบอกเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ เช่น “คนที่ 5”
“ที่ 5” คือปูรณสังขยา
“ม” (มะ) เป็นปัจจัย ใช้ประกอบเข้าข้างท้ายศัพท์ปกติสังขยาทำให้เป็นปูรณสังขยา เช่น –
ปญฺจ = 5
ปญฺจม = ที่ 5
(๒) “วาร”
บาลีอ่านว่า วา-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, มัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ว-(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร)
: วรฺ + ณ = วรณ > วร > วาร แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ผูกไว้” หมายถึงเวลาที่กำหนดไว้ตามเหตุการณ์นั้นๆ หมายถึง วาระ, โอกาส, เวลา, คราว (turn, occasion, time, opportunity)
ความหมายของศัพท์ :
(1) “สัตต” บาลี : สตฺต (สัด-ตะ) = 7
“สัตตมวาร” (สัด-ตะ-มะ-วาน) = วาระที่เจ็ด > ครบ 7 วัน
(2) “ปัณรส” บาลี : ปณฺณรส (ปัน-นะ-ระ-สะ) = 15
“ปัณรสมวาร” (ปัน-นะ-ระ-สะ-มะ-วาน) = วาระที่สิบห้า > ครบ 15 วัน
(3) “ปัญญาส” บาลี : ปญฺญาส (ปัน-ยา-สะ) = 50
“ปัญญาสมวาร” (ปัน-ยา-สะ-มะ-วาน) = วาระที่ห้าสิบ > ครบ 50 วัน
(4) “สัต” บาลี : สต (สะ-ตะ) = 100
“สัตมวาร” (สัด-ตะ-มะ-วาน) = วาระที่ร้อย > ครบ 100 วัน
พจนานุกรมว่าอย่างไร :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สัตมวาร : (คำนาม) วันที่ครบ ๗, วันทำบุญครบ ๗ วันของผู้ตาย.
(2) ปัณรสม– : (คำวิเศษณ์) ที่ ๑๕. (ป.).
(3) ปัญญาส– : (แบบ : คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) ห้าสิบ. (ป.).
(4) สตมาหะ : (คำนาม) วันที่ครบ ๑๐๐.
อภิปราย :
“สัตตมวาร” (ครบ 7 วัน) เป็นการสะกดตามรูปเดิมของบาลี คือ สัตตม = สตฺตม
แต่พจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “สัตมวาร” คือตัด ต ออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมของไทย แต่คงอ่านเหมือนกันว่า สัด-ตะ-มะ-วาน
เมื่อสะกดเป็น “สัตมวาร” ก็ไปพ้องรูปกับ “สัตมวาร” ในเอกสาร “หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล”
แต่ในเอกสารฯ “สัตมวาร” หมายถึง ครบรอบ 100 วัน ไม่ใช่ 7 วัน เพราะ 7 วันใช้ว่า “สัตตมวาร” (ต 2 ตัว)
“สตฺต” (7) ในบาลี เมื่อตัด ต ออกตัวหนึ่ง (ตามพจนานุกรมฯ) มีรูปเป็น “สต” ก็ไปพ้องรูปกับ “สต” (100) แม้จะสะกดเป็น “สัต-” ก็ไม่พ้นข้อสงสัยว่า เป็น “สัต-” 7 หรือ “สัต-” 100
อีกประการหนึ่ง ครบ 7 วันใช้ว่า “สัตมวาร” ไปแล้ว พอถึง 100 วันจะใช้คำอะไร ถ้าใช้ “สัตมวาร” (สต > สัต– = 100) ก็ซ้ำกับ 7 วัน
อาจเป็นเพราะมีปัญหาเช่นนี้ จึงเกิดคำว่า “สตมาหะ” (สะ-ตะ-มา-หะ) : สตม (ที่ 100) + อห (วัน) แทนที่จะเป็น “สัตมวาร”
“สตมาหะ” มีในพจนานุกรมฯ แต่ในเอกสาร “หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล” ไม่ได้ใช้คำนี้
“สตมาหะ” รูปคำไม่เข้าชุดกับคำอื่นๆ ที่ลงท้ายว่า “-วาร”
พจนานุกรมฯ มีคำว่า “ปัณรสม-” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ปัณรสมวาร”
มีคำว่า “ปัญญาส-” แต่ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “ปัญญาสมวาร”
ใครจะตอบได้เด็ดขาดว่า วันทำบุญครบกี่วันของผู้ตาย ใช้คำเรียกอย่างไรจึงจะดี?
……………..
๏ กี่ชีพพระชุบเกล้า…..เป็นกาย
กี่คาบพระขจัดหาย-…..นะเหี้ยน
กี่วารกี่วันวาย…………..วางเทวษ..ลงฤๅ
กี่ชาติเกิดใหม่เที้ยร……เทิดเกล้านิรันดร์กาล๚ะ๛
ข้าพระพุทธเจ้า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
ผู้เขียน “บาลีวันละคำ”
20-10-59