บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เราจะเรียนบาลีกันไปทำไม

เราจะเรียนบาลีกันไปทำไม

—————————

วันนี้ (๘ มีนาคม ๒๕๖๔) เริ่มสอบบาลีสนามหลวงเป็นวันแรก

การสอบบาลีของคณะสงฆ์ไทยนั้น แต่ละชั้นสอบปกติปีละครั้ง แต่แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม เรียกว่า “ครั้ง” เหมือนกัน จึงฟังดูเหมือนกับว่าสอบปีละ ๒ ครั้ง กำหนดวันสอบยืนพื้นทางจันทรคติ คือขึ้น-แรม

ครั้งแรก หรือกลุ่มแรก ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓

ประโยค ป.ธ.๖-๗ เริ่มขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ (๒ วัน)

ประโยค ป.ธ.๘-๙ ต่อจาก ป.ธ.๖-๗ (๓ วัน)

ครั้งหลัง หรือกลุ่มหลัง แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓

ประโยค ๑-๒, ป.ธ.๓-๕ เริ่มแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๓

ประโยค ๑-๒, ป.ธ.๔-๕ / ๒ วัน

ประโยค ป.ธ.๓ / ๓ วัน

คนไทยสมัยใหม่คุ้นกับ “วันที่” แต่ไม่คุ้นกับ “ขึ้นแรม” พอเห็นกำหนดวันสอบแต่ละปีเป็นวันที่เท่านั้นเท่านี้ ก็อาจจะสงสัยว่าคณะสงฆ์เอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดวันสอบ 

ปีก่อนเป็นวันที่เท่านั้นเท่านี้ 

ปีนี้เป็นวันที่เท่านี้เท่านั้น

แต่ละปีไม่ตรงกัน

ถ้ารู้ว่าคณะสงฆ์ใช้ระบบวันเดือนปีทางจันทรคติ ก็จะเข้าใจและรู้ว่าวันสอบบาลี (รวมทั้งสอบนักธรรม) ตรงกันทุกปี

ก็เหมือนเรารู้กันว่า วันวาเลนไทน์คือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ทุกปี วันคริสต์มาสคือวันที่ ๒๕ ธันวาคมทุกปี ไม่เปลี่ยน

ถ้าเอาระบบวันเดือนปีทางจันทรคติเข้าไปจับ ก็จะพบว่า วันวาเลนไทน์ของแต่ละปีขึ้นแรมก็ไม่ตรงกัน วันคริสต์มาสของแต่ละปีขึ้นแรมก็ไม่ตรงกัน ฉันใดก็ฉันนั้น คือขึ้นอยู่กับว่าจะเอาจันทรคติเป็นหลัก หรือจะเอาสุริยคติเป็นหลัก

เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ในพระพุทธศาสนาท่านบอกวันเดือนปีเป็นจันทรคติ วงรอบของเหตุการณ์ในแต่ละปีท่านจึงกำหนดตามจันทรคติ

คนรุ่นใหม่เสนอว่า-ก็เปลี่ยนมากำหนดเป็น “วันที่” เสียก็หมดเรื่อง เป็นสากลดีด้วย เช่นปีนี้มาฆบูชาตรงกับวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ก็กำหนดให้วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมาฆบูชา คนไทยก็จะได้รู้ทั่วกัน ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

คำตอบคือ ทำไม่ได้

เหตุผลคือ ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาท่านบันทึกไว้ว่า เหตุการณ์มาฆบูชาเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ไม่ได้บอกว่าเกิดขึ้นในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของแต่ละปีก็ย่อมจะไม่ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ 

วิธีที่ถูกต้องก็คือ ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจและให้คุ้นกับวันเดือนปีทางจันทรคติ-เหมือนกับที่ปู่ย่าตายายเราท่านทำกันมา

คนไทยสมัยก่อนเขาพูดกันว่า วันนี้ขึ้นกี่ค่ำแรมกี่ค่ำเดือนอ้ายเดือนยี่

เขาไม่ได้พูดกันว่าวันนี้วันที่เท่าไรเดือนมกรากุมภา

จึงเป็นวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา 

เราก็แค่ช่วยกันเรียนรู้และสืบทอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับจะเป็นเครื่องรับรองยืนยันถึงศักยภาพของชาวเราเอง

วัฒนธรรมของตนก็ไม่โยก

วัฒนธรรมของโลกก็ไม่คลอน

————–

วันนี้เริ่มสอบบาลี จึงน่าจะคุยกันสักหน่อยว่า เราจะเรียนบาลีกันไปทำไม

คำถามนี้ผมไปอ่านเจอในเพจของเฟซบุ๊กที่มีคนตั้งเป็นคำถาม (ตามภาพประกอบ) ตามไปอ่านความคิดเห็นของคนที่เข้ามาตอบแล้วก็ได้แง่คิดดี

คือได้แง่คิดว่า คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นส่วนมากมองความหมายของคำถามเพียงแง่เดียว คือมองว่าคนตั้งคำถามไม่รู้เรื่องเรียนบาลี และถามแบบหาเรื่องตำหนิว่าการเรียนบาลีไม่มีประโยชน์-ประมาณนั้น

ผมมองว่า “เราจะเรียนบาลีกันไปทำไม” เป็นคำถามที่ช่วยเตือนสติให้พวกเราถอยมาตั้งหลักคิดกันให้ดี คิดกันให้รอบคอบ 

การเรียนบาลีนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง มีคนเรียนกันอยู่จริงๆ และเป็นงานอย่างหนึ่งของคณะสงฆ์ที่พระสงฆ์ท่านทำกันอยู่จริงๆ

ถ้ามองในแง่การลงทุน ก็ใช้ทุนหรือใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปเพื่อการนี้เป็นมูลค่ามหาศาล 

ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย หรือ “ผลจากการประกอบการ” ที่ชัดเจน ก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าไปได้อย่างง่ายดาย 

เพราะฉะนั้น ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้-คือเรื่องการเรียนบาลีนี้-จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจน และชี้ให้ทุกคนมองเห็นได้ว่า เราเรียนบาลีกันไปทำไม

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ นอกจากทำให้คนทั้งหลาย “เห็นได้” แล้ว ก็ควรจะต้องทำให้คนทั้งหลาย “เห็นด้วย” ว่า “ทำไม” ที่ตอบออกมา กล่าวคือวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหรือผลจากการประกอบการนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ สมควรและคุ้มค่าที่จะลงทุน

ผู้รับผิดชอบการเรียนบาลีของเรามีคำตอบที่ชัดเจนหรือยัง

อันที่จริงน่าจะต้องถามว่า-ผู้รับผิดชอบการเรียนบาลีของเรามีคำตอบที่ชัดเจนหรือเปล่า ไม่ใช่-หรือยัง

“หรือยัง” – มีนัยว่า ได้เตรียมหาคำตอบไว้แล้ว แต่กำลังเลือกคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

ส่วน “หรือเปล่า” – มีนัยว่า ผู้รับผิดชอบการเรียนบาลีของเราไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเลย 

หรือเผลอๆ อาจจะไม่เคยคิดจะ “คิด” เอาด้วยซ้ำไป

ช่วยกันหาคำตอบนะครับว่า-เราเรียนบาลีกันไปทำไม

อย่าให้การเรียนและการสอบบาลีที่กำลังทำกันอยู่ในวันนี้เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า หรือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๘:

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *