บาลีวันละคำ

วิปฏิสาร (บาลีวันละคำ 3,192)

วิปฏิสาร

ไม่คุ้นตา แต่น่าจะคุ้นใจ

อ่านว่า วิบ-ปะ-ติ-สาน

วิปฏิสาร” เขียนแบบบาลีเป็น “วิปฺปฏิสาร” ( ปลา 2 ตัว มีจุดใต้ ปฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วิบ-ปะ-ติ-สา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปติ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน ปฺ ระหว่างอุปสรรคกับอุปสรรค (วิ + ปฺ + ปติ), แปลง เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (สรฺ > สาร)

: วิ + ปฺ + ปติ = วิปฺปติ + สรฺ = วิปฺปติสรฺ + = วิปฺปติสรณ > วิปฺปติสร > วิปฺปฏิสร > วิปฺปฏิสาร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้เป็นไปด้วยอาการผิดรูปร่ำไปแห่งจิต

คำแปลตามศัพท์นี้ ถ้าไม่คุ้นกับสำนวนบาลีจะเข้าใจยาก ขออธิบายดังนี้ –

1 “จิต” คือความนึกคิดของคนเรา มีสภาพหรือ “รูป” ปกติ คือคิดไปตามธรรมดา คือเรียบๆ เรื่อยๆ ถ้าโกรธหรือรักหลงรุนแรงเป็นต้น ถือว่าไม่ปกติ นั่นคือ “ผิดรูป”

2 ต่อมา คนเจ้าของจิตไปทำอะไรเข้าสักอย่าง ทำแล้วคิดถึงสิ่งที่ทำนั้นด้วยความไม่สบายใจ

3 “ภาวะ” คือความไม่สบายใจนั้น ส่งผลให้อาการคิดของจิตซึ่งเคยเป็นไปตามรูปปกติกลับ “ผิดรูป” ขึ้นมา คือไม่เป็นปกติ เช่น วิตกกังวล กลุ้ม นอนไม่หลับ เครียด

4 อาการที่จิตคิดอย่างผิดรูปนั้นไม่ได้เกิดครั้งเดียวแล้วหายกลับเป็นปกติ แต่เกิดอยู่ร่ำไป คือเกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จักหาย

5 รวมความทั้งหมดเข้าด้วยกัน เรียกเป็นสำนวนบาลีว่า “ภาวะเป็นเหตุให้เป็นไปด้วยอาการผิดรูปร่ำไปแห่งจิต

ภาวะหรืออาการดังกล่าวมานี้ บาลีใช้คำว่า “วิปฺปฏิสาร” หมายถึง ความเดือดร้อนใจ, ความกังวลใจ หรือใช้ทับศัพท์ว่า วิปฏิสาร

บาลี “วิปฺปฏิสาร” สันสกฤตเป็น “วิปฺรติสาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

วิปฺรติสาร : (คำนาม) ‘วิประติสาร,’ ความชั่ว; ความโกรธ; wickedness; wrath.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิปฺปฏิสาร” ว่า bad conscience, remorse, regret, repentance (ความวิปฏิสาร, การระลึกถึงความผิด, ความเสียใจ, ความเศร้าใจ)

คำนี้ในภาษาไทย เขียน “วิปฏิสาร” ตามบาลี และเขียน “วิประติสาร” ตามสันสกฤต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิปฏิสาร, วิประติสาร : (คำนาม) ความเดือดร้อน, ความร้อนใจ, (ภายหลังที่ได้กระทําผิด หรือเนื่องด้วยการกระทําผิด). (ป. วิปฺปฏิสาร; ส. วิปฺรติสาร).”

อภิปรายขยายความ :

วิปฏิสาร” นับว่าเป็นผลหรือ “วิบาก” อย่างหนึ่งของกรรม แต่เป็นผลที่เกิดแก่จิตใจ ต่างจากวิบากที่เป็นไปทางรูปธรรม

แยกให้เห็นง่ายๆ เช่น คนที่ไปฆ่าเขา แล้วรู้สึกผิด เกิดความไม่สบายใจ นี่คือ “วิปฏิสาร

ต่อมาถูกจับกุม ถูกลงโทษตามกฎหมาย ตลอดจนเมื่อเกิดในภพภูมิใหม่เป็นคนอายุสั้นพลันตายหรือถูกเขาฆ่า นี่คือวิบากที่เป็นไปทางรูปธรรม

วิปฏิสาร” อาจเป็นวิบากที่ไม่เด่นชัดสำหรับบางคน เช่นคนที่จิตใจเหี้ยมเกรียมหยาบหนาด้านชา ไปฆ่าเขา อาจสบายใจดี ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่รู้สึกผิด นี่คือไม่มี “วิปฏิสาร” แต่วิบากที่เป็นไปทางรูปธรรมย่อมเกิดขึ้นสมควรแก่เหตุที่ทำเสมอไป

ในทางภาษา คำว่า “วิปฏิสาร” ควรจะเป็น “คำแบบ” คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป เนื่องจากนิยมใช้ในภาษาเขียนมากกว่าในภาษาพูด แม้ในภาษาพูดนั่นเองก็มักใช้ในเรื่องที่อิงไปในทางธรรม เช่นสำนวนพระเทศน์เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใครทำผิด เราช่วยเดือดร้อนใจแทนกันไม่ได้ก็จริง

: แต่ช่วยทักท้วงเตือนติงไม่ให้ทำผิดได้

#บาลีวันละคำ (3,192)

9-3-64