บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หยุมหยิมเข้าเรื่อง

หยุมหยิมเข้าเรื่อง

——————-

เมื่อเดือนก่อน (๑๗ มกราคม ๒๕๖๔) ผมอ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง พบคำที่ท่านสะกดผิด ๒ คำ คือ “ฆารวาส” (ผู้ครองเรือน) กับ “อุปทาน” (ความยึดมั่นถือมั่น)

ใครเคยเขียนแบบนั้น โปรดลบข้อมูลเก่าทิ้งไป เก็บข้อมูลใหม่ต่อไปนี้ไว้ในความจำนะครับ

……………………………

คำที่หมายถึง “ผู้ครองเรือน” สะกดว่า “ฆราวาส” 

ฆราวาส อ่านว่า คะ-รา-วาด

ไม่ใช่ ฆารวาส 

คำที่หมายถึง “ความยึดมั่นถือมั่น” สะกดว่า “อุปาทาน” 

อุปาทาน อ่านว่า อุ-ปา-ทาน

ไม่ใช่ อุปทาน 

……………………………

เป็นที่น่าประหลาดอย่างยิ่งที่คนทั้งหลายเมื่อจะพูดคำที่หมายถึง “ยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ” แทนที่จะพูดว่า “อุปาทาน” (attachment) ก็กลับพูดว่า “อุปทาน” (supply)

พูดก็ยังพอว่า เพราะเสียงคล้ายกัน แต่แม้จะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ยังอุตส่าห์สะกดเป็น “อุปทาน” อยู่นั่นเอง 

สมัยที่หนังสือพิมพ์กระดาษเฟื่องฟู คนอ่านหนังสือพิมพ์กันทั่วบ้านทั่วเมือง มีคนบ่นเรื่องหนังสือพิมพ์ใช้คำผิดๆ ทำให้เด็กนักเรียนจำคำผิดไปใช้ตาม 

ผมเคยได้อ่านคำตอบของคนทำหนังสือพิมพ์ว่า หนังสือพิมพ์ต้องทำงานแข่งกับเวลา เป็นธรรมดาที่อาจจะใช้ภาษาผิดพลาด แต่หนังสือพิมพ์ไม่ใช่ตำราเรียน และสื่อไม่มีหน้าที่สอนภาษาไทย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของสื่อ (อยากโง่มาเชื่อสื่อเองทำไมล่ะ!)

ครั้นมีผู้ทักท้วงเรื่องใช้ภาษาผิดๆ บ่อยเข้า ก็จะมีท่านจำพวกหนึ่งออกรับแทนว่า ก็คนทั่วไปเขาไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้เรียน จะไปโทษเขาไม่ได้ ต้องโทษคนที่เรียนมา คนที่เรียนมานั่นแหละจะต้องบอกเขา 

ไม่ใช่ความผิดของเขาที่เขียนผิด

แต่เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่บอกเขา

ความจริง คนที่ห่วงการใช้ภาษาแล้วพยายามบอกกล่าวว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิด ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย ไม่ใช่ไม่บอก

คนที่ชอบเขียนผิดเคยพยายามตามไปศึกษาหาความรู้กันแค่ไหน

คนที่ชอบเขียนผิดควรจะทำหน้าที่ที่ถูกต้องของตนด้วย คือศึกษา สำเหนียก สังเกต ให้แน่ใจก่อนที่จะเขียน

ปัญหาเรื่องใช้ภาษาไม่ถูกต้องนี้ข้อเท็จจริงไม่ได้เกิดจาก “ความไม่รู้” อย่างที่อ้าง หากแต่เกิดจาก “ความไม่ใฝ่รู้” ประกอบกับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรนั่นเอง

หลายคนบอกว่า ชาติบ้านเมืองมีปัญหาที่สำคัญกว่านี้อีกตั้งมากมาย จะมาเอาอะไรกันนักหนากับเรื่องภาษา หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง เสียเวลา ไร้สาระ

…………..

ไม่บอก ก็ถูกตอกหน้า – รู้แล้วทำไมไม่บอกเขา

บอก ก็ถูกตอกหน้า – ไร้สาระ ไม่มีอะไรจะทำรึไง

…………..

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นักการศึกษานามอุโฆษของไทยกล่าวว่า –

“ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้

ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา”

คนที่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศแนะนำว่า เมื่ออยู่ต่างประเทศ บนถนนที่ผู้คนเดินกันขวักไขว่ ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นคนไทย วิธีที่ง่ายที่สุด แต่ได้ผลแน่นอนที่สุดก็คือ ให้พูดภาษาไทยออกมาดังๆ ถ้าแถวนั้นมีคนไทย เขาจะแสดงตัวออกมาทันที

นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ภาษาเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นชาติ

…………………………

ปัจจุบันนี้ ในแผนที่โลกไม่มีแผ่นดินที่เป็นประเทศมอญอีกแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง แต่โลกก็รับรู้ว่ายังมีชาติมอญอยู่ในโลกนี้ เพราะคนมอญในเมืองไทยเขายังพูดภาษามอญกันอยู่

แม้เราจะรักษาแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยไว้ได้ แต่เมื่อใดที่ภาษาไทยวิบัติวินาศ เมื่อนั้นก็จะไม่มีชาติไทยเหลือไว้ให้ใครรู้จักอีกต่อไป

…………………………

ความวินาศของชาติไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้เพียงเพราะมีคนเขียนภาษาไทยผิดเพียงคำเดียวหรือสองคำเท่านั้นหรอกครับ

แต่เขียนผิดแล้วไม่มีใครทักท้วงและไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องสำคัญเช่นที่กำลังเป็นกันอยู่นี้ มันจะค่อยๆ สร้างนิสัยไม่ชอบเรียนรู้ นิสัยมักง่าย ลงท้ายด้วยนิสัยประมาท 

ประมาทได้เรื่องหนึ่ง ต่อไปก็ประมาทได้ทุกเรื่อง

ความวิบัติวินาศพังทลายของเขื่อนที่แข็งแรงก็เริ่มมาจากรอยแตกเล็กๆ ที่น้ำซึมเข้าได้ แล้วก็ไม่มีใครสนใจ ปล่อยไว้จนเขื่อนพัง

ฉันใดก็ฉันนั้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๙:๓๓

————

ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้      ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา

ซึ่งผลิดอกออกผลแต่ต้นมา       รวมเรียกว่าวรรณคดีไทย

อนึ่งศิลป์งามเด่นเป็นของชาติ    เช่นปราสาทปรางค์ทองอันผ่องใส

อีกดนตรีรำร่ายลวดลายไทย      อวดโลกได้ไทยแท้อย่างแน่นอน

และอย่าลืมจิตใจแบบไทยแท้     เชื่อพ่อแม่ฟังธรรมคำสั่งสอน

กำเนิดธรรมจริยาเป็นอาภรณ์       ประชากรโลกเห็นเราเป็นไทย

แล้วยังมีประเพณีมีระเบียบ          ซึ่งไม่มีที่เปรียบในชาติไหน

เป็นของร่วมรวมไทยให้คงไทย    นี่แหละประโยชน์ในประเพณี

ได้รู้เช่นเห็นชัดสมบัติชาติ          เหลือประหลาดล้วนเห็นเป็นศักดิ์ศรี

ล้วนไทยแท้ไทยแน่ไทยเรามี      สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรม

                                                      ม.ล.ปิ่น  มาลากุล

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *