บาลีวันละคำ

อุณห – อุ่น (บาลีวันละคำ 3,193)

อุณห – อุ่น

และอาจลามไปถึง-อุ่นหนาฝาคั่ง

อุณห” เขียนแบบบาลีเป็น “อุณฺห” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า อุน-หะ หรืออ่านตรงเสียงบาลีจริงๆ เป็น อุน-หฺนะ คือ ณฺ ออกเสียงครึ่งเสียง รวมกับ เป็น -หฺนะ

อุณห” รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เผาไหม้) + ณฺห ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (อุสฺ > อุ)

: อุสฺ + ณฺห = อุสณฺห > อุณฺห แปลตามศัพท์ว่า “ฤดูที่แผดเผา” หมายถึง ร้อน, ฤดูร้อน

อุณฺห” ในบาลี ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่าร้อน (hot) ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความร้อน (heat) คำที่มักคู่กับ “อุณฺห” คือ “สีต” (สี-ตะ) แปลว่า หนาว (cold)

บาลี “อุณฺห” สันสกฤตเป็น “อุษฺณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุษฺณ : (คำวิเศษณ์) ร้อน, อุ่นตลุ่น; เผ็ดร้อน; คม; วู่วาม, ฉุนเฉียว; hot, warm; pungent; sharp; impetuous, passionate; – (คำนาม) ฤดูร้อน ความร้อน ความอบอุ่น; สูรยาโลก, สูรยาตบะ ( =แสงอาทิตย์, แสงแดด); หัวหอม; นิศวาส ( =สะอื้นไห้); มายุ ( =ปิตตํ, ดีในท้อง); กษัย; the hot season, heat; warmth; sunshine; an onion; a sigh; bile; consumption.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อุณห” ตามบาลี และ “อุษณ” ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –

(1) อุณห-, อุณหะ : (คำวิเศษณ์) ร้อน, อบอุ่น. (ป.; ส. อุษฺณ).

(2) อุษณ– : (คำนาม) ความร้อน; ฤดูร้อน; ของร้อน. (คำวิเศษณ์) ร้อน, อบอุ่น. (ส., ป. อุณฺห).

โปรดสังเกตว่า “อุณห” ตามบาลี พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำวิเศษณ์อย่างเดียว แต่ “อุษณ” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนามด้วย เป็นคำวิเศษณ์ด้วย

คำที่เนื่องมาจาก “อุณฺห” อีกคำหนึ่งที่นักเรียนบาลีคุ้นตา คือ “อุณฺหาการ” (อุน-หา-กา-ระ หรือ อุน-หฺนา-กา-ระ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า “อาการคือความร้อน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุณฺหาการ” ว่า appearance of heat (การปรากฏซึ่งความร้อน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุณหาการ : (คำนาม) อาการร้อน, อาการเร่าร้อน. (ป. อุณฺหาการ; ส. อุษฺณาการ).”

พจนานุกรมฯ ยังเก็บคำว่า “อุษณาการ” ตามรูปสันสกฤตไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

อุษณาการ : (คำนาม) อาการเร่าร้อน. (ส. อุษฺณาการ; ป. อุณฺหาการ).”

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “อุ่น” ในภาษาไทย ถ้ายังไม่มีพยานหลักฐานยืนยันแน่นอนว่ามาจากภาษาอะไร ก็สามารถ “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” คือบอกว่ามาจาก “อุณฺห” ในบาลีได้อย่างไม่เคอะเขินแต่ประการใด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อุ่น” ไว้ว่า –

อุ่น : (คำกริยา) ทําให้ร้อน เช่น อุ่นแกง. (คำวิเศษณ์) ค่อนข้างร้อน เช่น ตัวอุ่น, ไม่ร้อนนักไม่หนาวนัก เช่น อากาศอุ่น, อุ่น ๆ ก็ว่า.”

ในระหว่างที่ยกตัวอย่างคำว่า “อุณฺหาการ” แล้วบอกคำอ่านว่า คำนี้อ่านตามเสียงบาลีเป็น อุน-หฺนา-กา-ระ ก็ได้ จิตก็นึกไปถึงคำว่า “อุ่นหนาฝาคั่ง” ที่พูดกันในภาษาไทย

อุ่นหนา–” คำนี้เสียงตรงกับ อุน-หฺนา- ที่อ่านคำว่า “อุณฺหาการ” พอดิบพอดี แต่ดูความหมายในภาษาไทยแล้ว ไปคนละเรื่อง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อุ่นหนาฝาคั่ง” ไว้ว่า –

อุ่นหนาฝาคั่ง : (คำวิเศษณ์) มั่นคง, มีหลักฐานเป็นที่พักพิงมั่นคง, เช่น มีฐานะอุ่นหนาฝาคั่ง; มากมายคับคั่ง เช่น งานนี้มีผู้คนมาอุ่นหนาฝาคั่ง.”

อุ่นหนา” ดูจะเป็นคำไทยแท้ๆ มากกว่าที่จะมาจาก “อุณฺหา–” ในบาลี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ภาษา แค่รู้ว่าเขาด่าหรือเขาชม

: รู้ประสา รู้เหตุที่เขาด่า และรู้เหตุที่เขาชม

#บาลีวันละคำ (3,193)

10-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย