บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บาลีแผนเดิม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการเรียนบาลีทุกวันนี้สรุปได้ว่า –

พระภิกษุสามเณรเลือกไปเรียนทางอื่นมากขึ้น มีผู้เรียนบาลีน้อยลง เพราะเรียนยาก สอบได้ยาก

………………………………………

สอบบาลี

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2218115078321029&id=100003676743377

………………………………………

ผมมีข้อเสนอเรื่องการเรียนบาลี ไม่ใช่เพื่อให้มีพระเณรเรียนกันมากขึ้น หรือเรียนง่ายขึ้น หรือสอบได้ง่ายขึ้น

แต่เพื่อให้เราเรียนบาลีกันให้ถูกทาง 

เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกันตั้งแต่ต้น ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า การเรียนบาลีตามสภาพที่กำลังเป็นไปอยู่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีต่อไป ท่านผู้ใดมีจิตศรัทธาจะสนับสนุนส่งเสริมด้วยวิธีการใดๆ ก็ยังคงทำได้ต่อไป และขออนุโมทนาสาธุ

ข้อเสนอที่ผมจะว่าต่อไปนี้จะไม่ไปขวางทางหรือถ่วงรั้งด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อเสนอของผมก็คือ สร้างปรัชญา หรืออุดมคติ หรือค่านิยม หรือวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย หรือจะเรียกว่าอะไรก็เรียกไป แต่ให้มีความหมายว่า-เรียนบาลีเพื่อมุ่งไปศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกเพื่อการรักษาสืบทอดพระศาสนา

การเรียนบาลีตามปรัชญาใหม่นี้ จะบอกแก่ผู้เรียนไปตั้งแต่ตกลงใจจะเรียนบาลีว่า บาลีที่จะเรียนกันต่อไปนี้เป็นบาลีของผู้มีอุดมคติที่จะรักษาสืบทอดพระศาสนา 

คุณสมบัติข้อแรกและเป็นข้อที่สำคัญที่สุดของนักเรียนบาลีแผนใหม่-ซึ่งอันที่จริงคือบาลีแผนเดิม-ก็คือ ต้องมีอุดมคติที่จะรักษาสืบทอดพระศาสนา ถ้าไม่มีอุดมคติข้อนี้ ขอแนะนำว่า อย่ามาเรียน

อุปสรรคสำคัญที่จะต้องเผชิญก็คือ บาลีแผนเดิมนี้จะหาผู้สมัครใจเข้ามาเรียนได้ยากมาก

แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้การเรียนบาลีแผนเดิมที่ว่านี้เกิดขึ้นไม่ได้

พูดให้ชัดลงไปได้เลยว่า แม้มีผู้สมัครใจเรียนเพียงคนเดียวก็เปิดเรียนได้

ข้อเท็จจริงของบรรดาผู้นับถือพระพุทธศาสนาก็คือ คนที่มีกุศลจิตอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงย่อมมีอยู่ทั่วไป ทั้งที่เกิดมาแล้วและยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ และที่จะเกิดต่อไปในวันข้างหน้า

ที่อาจจะหนักหน่อยก็คือ งานสืบเสาะตามหาคนที่มีกุศลจิตเช่นว่านั้นให้พบ แล้วบอกล่าวชักชวนให้มาเรียนบาลีแผนเดิม

หรืออาจจะใช้วิธีสามัญ คือรับผู้เรียนทั่วไปเหมือนบาลีปกติที่เรียนกันอยู่ทุกวันนี้แหละ แต่บอกกล่าวกันให้ชัดเจนไปตั้งแต่ต้นว่า บาลีแผนเดิมนี้ไม่ได้มุ่งจะสอนเพื่อให้สอบได้นะ แต่มุ่งจะสอนให้มีความรู้ แล้วเอาความรู้ไปศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกเป็นเป้าหมายหลัก

เรียนไปๆ คนที่เรียนเพื่อสอบได้ตามค่านิยมเดิมก็คงมี แต่คนที่เกิดอุดมคติที่จะอุทิศชีวิตเรียนเพื่อรักษาพระศาสนาก็จะต้องมีอยู่ด้วยแน่นอน

ก็คงใช้วิธีคิดทำนองเดียวกัน คือ-มีผู้ตั้งใจเรียนแบบนี้แม้เพียงคนเดียวก็คุ้ม

ขอให้นึกถึงเรื่องประกอบคัมภีร์มิลินทปัญหาที่กล่าวถึงพระโรหณเถระในสมัยเมื่อพุทธศักราชล่วงแล้วประมาณ ๕๐๐ ปี ท่านเพียรพยายามไปเอาเด็กน้อยตระกูลพราหมณ์มาบวชในพระพุทธศาสนาทำให้เกิดพระนาคเสนขึ้นมา องค์เดียวแท้ๆ แต่ก็รักษาพระศาสนาไว้ได้ยาวนาน

บาลีแผนเดิมที่เรียนด้วยวัตถุประสงค์ดังว่านี้คงตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้านเดียวเท่านั้น คือทำให้ผู้เรียนมีความรู้บาลีถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ต้องกังวลเรื่องสอบได้สอบตก

สอบได้เป็นกำไร

สอบตกก็ไม่ขาดทุน เพราะความรู้ไม่ได้ตกด้วย

ความรู้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เรียนไป

จนถึงระดับที่สามารถใช้งานได้-คือค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกได้จริง

ขอให้นึกฝรั่งที่เรียนบาลีทีหลังเรา เขาเรียนเพื่อเอาความรู้จริงๆ แท้ๆ ล้วนๆ ไม่มีฝรั่งสอบได้ประโยค ๙ แม้แต่คนเดียว แต่ฝรั่งที่เรียนบาลีใช้ความรู้ไปเรียนพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาจนสามารถแปลพระไตรปิฎกได้ ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ฉบับมาตรฐานได้สำเร็จ ได้ใช้กันทั่วโลก-รวมทั้งนักเรียนบาลีของไทยเราก็ได้อาศัยใช้ด้วย

ในขณะที่นักเรียนบาลีของเราเรียนเพื่อสอบได้ ก็สอบได้กันจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ไปไม่ถึงพระไตรปิฎก เพราะไม่ได้ตั้งใจจะไปไว้ตั้งแต่ต้น

ผมเชื่อว่า คนไทยที่มีหัวใจเป็นมหาบุรุษ มีอุดมคติที่จะรักษาพระศาสนายังมีอยู่ ขอให้ช่วยกันใช้หัวใจมหาบุรุษนั้นสนับสนุน ส่งเสริม หรือลงมือเปิดบาลีแผนเดิมตามที่ว่านี้ 

ความจริงแล้ว บาลีแผนเดิมตามที่ว่านี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นเลย

สำนักเรียนบาลีก็มีอยู่แล้ว

ครูบาอาจารย์ที่สอนก็มีอยู่แล้ว

นักเรียนก็มีอยู่แล้ว

เพียงแต่หว่านโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งอุดมคติ “บาลีเพื่อการรักษาพระศาสนา” ลงไปในความคิดจิตใจของผู้คน แล้วรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้เจริญเติบโตขึ้นเท่านั้น

ภูเขาลูกมหึมาที่ขวางหน้าอยู่ก็คือ ความคิดที่ปิดกั้นบั่นทอนกำลังใจว่า 

ทำไม่ได้หรอก

ไม่มีใครทำหรอก

คนที่จะเรียนบาลีตามอุดมคติแบบนั้นนะไม่มีหรอก 

ฝันไปเถอะ

ปิดท้ายด้วย —

เรียนบาลีแบบที่เป็นอยู่นี่ก็ดีอยู่แล้วนี่

ไอ้ตัวคนคิดแผนมันก็เรียนมาตามแบบนี้ไม่ใช่เรอะ

แล้วจะมาคิดอุตริให้มันเกิดอะไรขึ้นมา

แบบนี้เขาก็รักษาพระศาสนากันมาได้จนถึงทุกวันนี้

จะมาทำอวดวิเศษอะไรกันนักหนา

จบเลย

ไม่ได้ทำ ไม่ใช่เพราะทำไม่ได้ หรือเพราะไม่มีศักยภาพที่จะทำ

แต่เพราะไม่คิดจะทำ

นักเรียนบาลีที่จะไปถึงพระไตรปิฎกได้อย่างมีคุณภาพ ต้องสร้างขอรับ

ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเองตามบุญตามกรรม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *