บาลีวันละคำ

สามี-ภรรยา (บาลีวันละคำ 4,602)

สามีภรรยา

คำไทยว่า ผัว-เมีย

สามี” อ่านว่า สา-มี

ภรรยา” อ่านว่า พัน-ยา ก็ได้ พัน-ระ-ยา ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

(๑) “สามี

คำนี้บาลีเป็น “สามิ” (-มิ สระ อิ) อีกรูปหนึ่ง รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อามิ ปัจจัย

: + อามิ = สามิ 

มีสูตรกระจายคำเพื่อแสดงความหมาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”) ว่า –

: สํ ธนํ อสฺสตฺถีติ สามิ = สะ คือทรัพย์ ของผู้นั้น มีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สามิ = ผู้มีทรัพย์ 

สามิ” ทีฆะ อิ เป็น อี ได้รูปเป็น “สามี” อีกรูปหนึ่ง

สามิ > สามี” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย (owner, ruler, lord, master)

(2) สามี (husband)

บาลี “สามิ > สามี” สันสกฤตเป็น “สฺวามินฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺวามินฺ : (คำนาม) ‘สวามิน,’ เจ้าของ, คำว่า ‘สวามี, บดี, อธิการี, หรือสวามินี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; นาย, เจ้าหรือจ้าว, คำว่า ‘อธิภู, นายก, อธิป, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน ผัว, คำว่า ‘ภรฺตา, ปติ, สฺวามี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อธิราช, ราชันหรือราชา; อุปาธยาย, อาจารย์, ครูผู้สั่งสอนธรรมหรือเวท; พราหมณ์หรือบัณฑิตผู้คงแก่เรียน; การติเกย; พระวิษณุ; พระศิวะ; มุนิวัตสยายน; ครุฑ; an owner, proprietor, a master or mistress, &c.; a master or lord, &c.; a husband, a lover, &c.; a sovereign, a monarch; a spiritual preceptor, religious teacher; a learned Brāhmaṇ or Paṇḍit; Kartikeya; Vishṇu; Śiva; the Muni Vatsyāyana; Garuḍa.”

จะเห็นว่า “สฺวามิน” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “สามิ > สามี” ในบาลี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สามี : (คำนาม) ผัว, ชายที่เป็นคู่ครองของหญิง, คู่กับ ภรรยา หรือ ภริยา; นาย, เจ้าของ. (ป.; ส. สฺวามินฺ).”

(๒) ภรรยา” 

บาลีเป็น “ภริยา” อ่านว่า พะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภรฺ + อิ + = ภริย + อา = ภริยา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันสามีต้องเลี้ยงดู” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภริยา” ว่า a wife และบอกคำแปลตามรากศัพท์ไว้ว่า one who is supported (ผู้ถูกเลี้ยงดู)

บาลี “ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) ภริยา : (คำนาม) ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ป.; ส. ภารฺยา).

(2) ภรรยา : (คำนาม) ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).

โปรดสังเกตศึกษาวิธีให้คำนิยามของพจนานุกรมฯ 

ภริยา” บอกว่าคือ “ภรรยา

ภรรยา” ก็บอกว่าคือ “ภริยา

หมายความว่าทั้ง 2 คำใช้ได้เท่ากัน ไม่มีคำไหนเป็นคำหลัก-คำรอง คือเป็นคำหลักทั้งคู่ คำนิยามต่อมาก็ตรงกันทั้ง 2 คำ

ผู้รู้แบ่งภรรยาเป็น 7 ประเภท ดังนี้ :

1. วธกาภริยา = ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต, ภรรยาที่คิดร้าย ซื้อได้ด้วยเงิน มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ ยินดีชายอื่น ดูหมิ่นและคิดทำลายสามี – a wife like a slayer; destructive wife

2. โจรีภริยา = ภรรยาเยี่ยงโจร, ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ – a wife like a robber; thievish wife

3. อัยยาภริยา = ภรรยาเยี่ยงนาย, ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน กินมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ชอบข่มสามี – a wife like a mistress; Madam High and Mighty

4. มาตาภริยา = ภรรยาเยี่ยงมารดา, ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่สามี เหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์ที่หามาได้ – a wife like a mother; motherly wife

5. ภคินีภริยา = ภรรยาเยี่ยงน้องสาว, ภรรยาผู้เคารพรักสามีดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจและคล้อยตามสามี – a wife like a sister; sisterly wife

6. สขีภริยา = ภรรยาเยี่ยงสหาย, ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน พบสามีเมื่อใด ก็ปลาบปลื้มดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนที่จากไปนาน เป็นผู้มีการศึกษาอบรม มีกิริยามารยาท ความประพฤติดี ภักดีต่อสามี – a wife like a companion; friendly wife

7. ทาสีภริยา = ภรรยาเยี่ยงทาสี, ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ – a wife like a handmaid; slavish wife

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ผัว” และ “เมีย” ในภาษาไทย ดูเหมือนว่าคนสมัยใหม่จะรังเกียจเหมือนกับเป็นคำต่ำหรือคำดูถูก มักเลี่ยงไปใช้คำว่า “สามี” และ “ภรรยา

เมื่อรู้ความหมายของคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” แล้ว จะคิดอย่างไรกันอีก ก็ไม่อาจบอกได้

การที่เรียกชายผู้เป็นผัวว่า “สามี” บอกเป็นนัยว่าผัวเป็น “เจ้าของ” เมีย โดยนัยนี้เมียจึงมีฐานะเป็น “สิ่งของ” หรือ “ทรัพย์สิน” ชนิดหนึ่งของผัว สมตามหลักปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณว่า ผัวอาจขายหรือยกเมียให้ใครก็ได้

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “อิตฺถี ภณฺฑานมุตฺตมํ” (อิสสรสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 212) แปลตามพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1 ว่า “สตรีเป็นสูงสุดแห่งสิ่งของทั้งหลาย

ตามนัยแห่งพุทธภาษิตนี้ ชวนให้ตีความว่า ก็เมื่อผู้หญิงมีฐานะเหมือน “สิ่งของ” (ภัณฑะ) เช่นนี้ สามีคือ “เจ้าของ” ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้กับภรรยาซึ่งเป็น “สิ่งของ” ของตน แม้กระทั่งขายหรือยกให้ใคร ๆ

แต่อรรถกถาอธิบายพุทธภาษิตบทนี้แบบที่เราคาดไม่ถึง

คำว่า “อิตฺถี ภณฺฑานมุตฺตมํ” อรรถกถาอธิบายดังนี้ –

…………..

อิตฺถีติ  อวิสฺสชฺชนียภณฺฑตฺตา  อิตฺถี  ภณฺฑานมุตฺตมํ  วรภณฺฑนฺติ  อาห  ฯ  

คำว่า อิตฺถี มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัทฑะทั้งหลาย คือเป็นภัณฑะอันประเสริฐ เพราะเป็นภัณฑะที่ไม่พึงทอดทิ้ง

อถวา 

อีกนัยหนึ่ง

สพฺเพปิ  โพธิสตฺตา  จ  จกฺกวตฺติโน  จ  มาตุกุจฺฉิยํเยว  นิพฺพตฺตนฺตีติ  อิตฺถี  ภณฺฑานมุตฺตมนฺติ  อาห  ฯ

พระโพธิสัตว์และพระเจ้าจักรพรรดิทุกพระองค์ ย่อมเกิดในท้องของมารดา (คือเกิดกับผู้หญิง) เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย ดังนี้

ที่มา: สารัตถปกาสินี ภาค 1 หน้า 138

…………..

ตามคำอธิบายนี้ แทนที่สามีจะขายภรรยาหรือยกให้คนอื่น กลับจะต้องทำตรงกันข้าม คือต้องทะนุถนอมไว้ไม่ทอดทิ้งเป็นอันขาด เพราะเป็นสมบัติที่มีค่าสูงสุด

เหตุผลอีกแง่หนึ่งที่พิสูจน์ความเป็นสมบัติที่มีค่าสูงสุดของผู้หญิงก็คือ พระโพธิสัตว์-คือท่านผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดในทางธรรม-ทุกพระองค์ และพระเจ้าจักรพรรดิ-ผู้สูงสุดในทางโลก-ทุกพระองค์ ล้วนแต่เกิดในครรภ์ของผู้หญิง 

คิดดูง่าย ๆ ถ้าไม่มีผู้หญิง โลกจะมีพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นบุคคลผู้สูงสุดได้อย่างไร 

เห็นหรือยังว่า นี่คือความเป็นสมบัติที่มีค่าสูงสุดของผู้หญิง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงเป็นนายของภาษา

: อย่ายอมให้ภาษาเป็นนายเรา

#บาลีวันละคำ (4,602)

17-1-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *