พุทธางกูร (บาลีวันละคำ 3,194)
พุทธางกูร
ไม่ใช่เป็นได้เอง
อ่านว่า พุด-ทาง-กูน
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + อังกูร
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
(๒) “อังกูร”
บาลีเป็น “องฺกุร” อ่านว่า อัง-กุ-ระ (บาลี –กุ– ไม่ใช่ –กู-) รากศัพท์มาจาก องฺกฺ (ธาตุ = กะ, กำหนด) + อุร ปัจจัย
: องฺก + อุร = องฺกุร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขากำหนดหมายไว้” หมายถึง หน่อ, ตุ่ม (a shoot, a sprout)
บาลี “องฺกุร” ภาษาไทยใช้เป็น “อังกุระ” และ “อังกูร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อังกุระ, อังกูร : (คำนาม) หน่อ, หน่อเนื้อเชื้อไข, เชื้อสาย; มักใช้ อังกูร เป็นส่วนท้ายของสมาส เป็น อางกูร เช่น พุทธางกูร นรางกูร. (ป., ส.).”
พุทฺธ + องฺกุร = พุทฺธงฺกุร (พุด-ทัง-กุ-ระ) แปลว่า “หน่อแห่งพระพุทธเจ้า” (a nascent Buddha)
“พุทฺธงฺกุร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธังกูร” และ “พุทธางกูร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธังกูร, พุทธางกูร : (คำนาม) หน่อพระพุทธเจ้า คือผู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า. (ป.).”
ขยายความ :
คำเก่าๆ มักจะเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “หน่อเนื้อพุทธางกูร” หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “พระบรมพุทธางกูร” ทั้งนี้เพราะถือคติว่า พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ทวยอาณาราษฎร เช่นเดียวกับที่ผู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้ากระทำมาทุกภพทุกชาติ
ผู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาค มีคำเรียกว่า “โพธิสัตว์”
การเป็นโพธิสัตว์สำเร็จได้ด้วยการตั้งความปรารถนา และการตั้งความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้ผู้ตั้งจะต้องประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติ 8 ประการ ดังนี้ –
(1) ขณะที่ตั้งความปรารถนาต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น (มนุสฺสตฺตํ) เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นเทวดามารพรหมตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ
(2) แม้เป็นมนุษย์ก็ต้องเป็นเพศชายเท่านั้น (ลิงฺคสมฺปตฺติ) เพศหญิงตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ
(3) ต้องสามารถที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั่นเอง (เหตุ) คือผู้นั้นจะปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ไปเลยก็สามารถทำได้ แต่ยังไม่ประสงค์เช่นนั้น ผู้ที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ยังไม่ใกล้ต่อการบรรลุมรรคผลใดๆ ก็ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ
(4) ได้พบพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่และได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่าจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ดังปรารถนา (สตฺถารทสฺสนํ) กาลปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว เป็นอันหมดโอกาสที่ใครจะตั้งความปรารถนาได้อีกแล้ว เว้นแต่จะรอไปตั้งความปรารถนากับพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป
(5) ในขณะที่ตั้งความปรารถนาต้องอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ (ปพฺพชฺชา) คนที่ยังเป็นฆราวาสครองเรือนอยู่ ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ
(6) สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว (คุณสมฺปตฺติ) นี่คือต้องเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและได้บรรลุธรรมอย่างต่ำก็ฌานสมาบัติขั้นโลกิยะ ผู้ไม่เคยปฏิบัติ หรือเคยปฏิบัติแต่ยังไม่ได้บรรลุอะไรเลย ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ
(7) ต้องประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต (อธิกาโร) คือต้องเป็นผู้บำเพ็ญคุณความดีกรณียกิจอย่างยิ่งยวดถึงขนาดยอมตายเพื่อให้งานสำเร็จ คนกลัวตาย กลัวลำบาก ไม่กล้าเสียสละ ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ
(8) ปรารถนาพุทธภูมิ คือตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะเป็นพระพุทธเจ้า (ฉนฺทตา) คือตัดสินใจแล้วไม่ถอยกลับ ไม่คืนคำ ไม่ลังเล และไม่มีวันเปลี่ยนใจอย่างเด็ดขาด
ถ้าทำได้ครบทั้ง 8 ข้อ ผู้นั้นก็จะมีสถานะเป็น “โพธิสัตว์” มีอันที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน มีคำเรียกเฉพาะลงไปว่า “นิยตโพธิสัตว์” คือเป็นพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง
ถ้าขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง แม้ตั้งใจจะเป็นโพธิสัตว์สักเพียงไร ความเป็นโพธิสัตว์ก็ไม่สำเร็จ นอกจากเรียกตัวเองหรือเรียกกันไปเองว่าท่านผู้นั้นผู้โน้นเป็นโพธิสัตว์ แต่จริงๆ แล้วหาใช่ไม่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน
: แต่เราอาจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทุกคน
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (3,194)
11-3-64