บาลีวันละคำ

ตสฺมา ตุณฺหี (บาลีวันละคำ 3,195)

ตสฺมา ตุณฺหี

สำนวนบาลีที่น่าจำไว้ใช้

เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “ตสฺมา” คำหนึ่ง และ “ตุณฺหี” อีกคำหนึ่ง

(๑) “ตสฺมา

โดยทั่วไปนักเรียนบาลีออกเสียงว่า ตัด-ส๎-หฺมา คือ -ส๎- ออกเสียงครึ่งเสียง คล้ายๆ กับคำไทยที่เราพูดว่า “สมาน” แต่ในที่นี้เป็น “-หมา” ไม่ใช่ “หมาน”

ตสฺมา” รูปคำเดิมเป็น “” (ตะ) นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “-ศัพท์” เป็นสรรพนามประเภท “วิเสสนสรรพนาม” (คำว่า “สรรพนาม” ภาษาไทยสะกดอย่างนี้ แต่ในตำราบาลีไวยากรณ์ท่านสะกดเป็น “สัพพนาม”)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “-ศัพท์” :

สรรพนาม (สัพพนาม) ในบาลีมี 2 ประเภท คือ –

1. ปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-) คำแทนตัวผู้พูด ผู้ที่พูดด้วย และผู้ที่ถูกพูดถึง

2. วิเสสนสรรพนาม (วิ-เส-สะ-นะ-) คำขยายคำนามให้มีความหมายแปลกๆ แตกต่างกันออกไป

-ศัพท์” เป็นทั้งปุริสสรรพนามและวิเสสนสรรพนาม

เป็นปุริสสรรพนาม แปลว่า “เขา” หรือ “เธอ” (he/she)

เป็นวิเสสนสรรพนาม แปลว่า “นั้น” (this, that, just this [or that], even this [or these])

-ศัพท์” แจกด้วยวิภัตตินามที่ห้า (ปัญจมีวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “ตสฺมา” แปลว่า “เหตุนั้น” แต่นิยมแปลกันว่า “เพราะเหตุนั้น” หมายถึง เนื่องด้วยเหตุนี้, เพราะฉะนั้น (out of this reason, therefore)

(๒) “ตุณฺหี

มาจาก ตุณฺห + อี ปัจจัย

(ก) ตุณฺห รากศัพท์มาจาก ตุหฺ (ธาตุ = ข่มเหง, เบียดเบียน) + ณฺห ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ

: ตุหฺ > ตุ + ณฺห = ตุณฺห แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ข่มความเงียบ” หมายถึง นิ่งเงียบ (silent) คือไม่มีอะไรจะพูด

(ข) ตุณฺห + อี = ตุณฺหี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความนิ่ง

พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกไว้ว่า –

(1) ตุณฺหี : (คำกริยาวิเศษณ์) นิ่ง, เงียบ.

(2) ตุณฺหี : (คำคุณศัพท์) นิ่ง, เงียบ, ไม่มีเสียง, ดุษณี.

(3) ตุณฺหีภาว : (คำนาม) ดุษณีภาพ, ความเป็นผู้นิ่ง, ความเงียบ.

คำว่า “ตุณฺหีภาว” ก็คือที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ดุษณีภาพ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายว่า ความเงียบ, การมีท่าทียินยอม, ดุษณีภาพ (silence, attitude of consent)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “ตุณฺหี” ไว้ว่า –

silently, esp. in phrase tuṇhī ahosi he remained silent, as a sign of consent or affirmative answer (i. e. he had nothing to say against it)

แปล: อย่างเงียบๆ , โดยเฉพาะในวลี ตุณฺหี อโหสิ เขานิ่งเงียบ, เป็นเครื่องหมายว่ายินยอมหรือตอบรับ (คือเขาไม่มีอะไรจะพูดค้าน)

ตุณฺหี” เป็นรูปคำบาลีที่ไม่พบว่ามีใช้ในภาษาไทย เราใช้อิงรูปคำสันสกฤตว่า “ดุษณี” และ “ดุษณีภาพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดุษณี, ดุษณีภาพ : (คำนาม) อาการนิ่งซึ่งแสดงถึงการยอมรับ. (ส. ตุษฺณีมฺ; ป. ตุณฺหี).”

ตุณฺหี สะกดและเป็นกึ่งตัวนำพยางค์หลัง อ่านว่า ตุน-นฺฮี หรือจะออกเสียงว่า ตุน-นี ก็ได้

ตสฺมา ตุณฺหี” เป็นคำที่ปรากฏในกรรมวาจาของสงฆ์ในกรณีที่เสนอญัตติแล้วถามความเห็นจากที่ประชุม เมื่อที่ประชุมเห็นชอบกับญัตตินั้น ผู้เสนอญัตติก็จะประกาศมติของที่ประชุม คำลงท้ายมติที่ถือว่าเป็นสำนวนตามแบบแผนคือ “ตสฺมา ตุณฺหี,  เอวเมตํ  ธารยามิ.” (ตัส๎มา ตุณหี, เอ-วะ-เม-ตัง ทา-ระ-ยา-มิ)

แปลตามศัพท์ว่า “เพราะฉะนั้น (ท่านทั้งหลาย) จึงนิ่ง, ข้าพเจ้าทรงจำความข้อนี้ไว้ด้วยอาการอย่างนี้

แปลตามสำนวนไทย “เพราะท่านทั้งหลายไม่คัดค้าน จึงขอประกาศมติว่าที่ประชุมนี้เห็นชอบด้วยตามข้อเสนอ

อภิปรายขยายความ :

๑ คำบาลีที่สะกดเป็น –หี– เช่น “มหีตเล” (ในพระคาถาชินบัญชร) หรือ “ตุณฺหี” ที่กำลังพูดถึงนี้ ท่านให้ออกเสียงเป็น -ฮี- (ฮ นกฮูก) อาจเป็นเพราะรูปคำไปพ้องกับคำไทยที่หมายถึงอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง ซึ่งรู้สึกกันว่าเป็นคำหยาบ

๒ แต่ถึงจะออกเสียงเป็น -ฮี- แต่เมื่อเขียนเป็นอักษรก็ต้องเขียนตามรูปเดิม จะสะกดคำนี้เป็น “มฮีตเล” หรือ “ตุณฮี” ไปด้วยนั้นเป็นการผิดหลักภาษา เพราะ ฮ นกฮูก ไม่มีในภาษาบาลี

๓ การยอมรับโดยกิริยา “นิ่ง” เป็นวัฒนธรรมในอริยวินัย เช่นกรณีที่มีผู้นิมนต์พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ท่านจะรับนิมนต์โดยกิริยานิ่ง ไม่ใช่เอ่ยปากตอบรับ

ตุณฺหีนิ่ง มีความหมายว่าเห็นด้วย หรือให้ความร่วมมือ โดยหลักการแล้วต้องกระทำด้วยวิจารณญาณที่ถูกต้อง และด้วยสติปัญญา มิใช่เพราะโมหะ

ถ้า “ตุณฺหีดุษณี” เพราะโมหะ หรือเพราะกลัวอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ “นิ่ง” ในอริยวินัย

เวลาใครถามความเห็นใครหรือเสนอให้ใครทำอะไร แล้วผู้นั้นนิ่งไปหมดทุกเรื่อง จำคำว่า “ตสฺมา ตุณฺหี” ไว้พูดสรุปให้ท่านผู้มีท่าทีเช่นนั้นฟัง ก็คงขำดีเหมือนกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำถูกก็นิ่ง ทำผิดก็นิ่ง

: ว่ากันตามจริงก็คือ “ใบ้รับประทาน”

#บาลีวันละคำ (3,195)

12-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย