บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความจริงของโลก

ความจริงของโลก

——————-

กับผู้ทำหน้าที่ปลุกโลก

ความจริงของโลกมีหลายเรื่อง มีทั้งความจริงที่เห็นกันได้ง่ายๆ และความจริงที่ต้องคิดนึกตรึกตรองจึงจะมองเห็น

ความจริงที่เห็นกันได้ง่ายๆ ก็เช่น ทุกชีวิตเกิดแล้วต้องตาย

ความจริงที่ต้องคิดนึกตรึกตรองจึงจะมองเห็น ก็เช่น มีวิธีที่จะไม่ต้องเกิดไม่ต้องตาย และคนเราสามารถปฏิบัติตามวิธีนั้นจนบรรลุผลสำเร็จได้

ความจริงของโลกเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องหรือบังคับให้เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่เพื่อให้รู้ทันว่าควรจะทำอย่างไรกับมัน 

เช่น-จะเป็นกับมัน หรือจะไม่เป็นกับมัน

อย่างเช่น-คนเราตกอยู่ในกระแสความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น นี่เป็นความจริง โลก-คือชาวโลก-เขาเป็นกันอย่างนี้

พอรู้ทัน เราก็จะรู้ว่า เราจะลอยตามกระแส คือโลภมากอยากได้เหมือนกับที่คนอื่นเขาเป็น หรือว่าควรจะว่ายทวนกระแส คือระงับความโลภมากอยากได้ลง

พอเห็นใครทำสิ่งที่ควรเว้นหรือเว้นสิ่งที่ควรทำ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เราก็รู้ทันว่า อ้อ นั่นเขาเลือกที่จะลอยตามกระแส

คนเราทำดียาก แต่ทำชั่วง่าย นี่ก็เป็นความจริงของโลก

แต่สิ่งที่เป็นความจริงของโลกด้วยเช่นกันก็คือ แม้โลกจะเป็นอย่างนั้น แต่ก็จะต้องมีอยู่บ้างเหมือนกันที่บางเรื่อง บางส่วน บางคน ไม่เป็นอย่างนั้น

แม้คนทั้งโลกจะตกอยู่ในกระแสความโลภมากอยากได้ แต่คนที่ไม่โลภมากก็มีอยู่จริงในโลก

แม้คนทั้งโลกจะทำชั่วง่าย แต่คนที่ทำชั่วยาก แต่ทำดีง่าย ก็มีอยู่จริงในโลก

ความจริงของโลกในแง่นี้แหละที่ไม่ควรมองข้าม

………………………………..

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มักจะเกิดจากจุดบันดาลใจเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในท่ามกลางความล้มเหลวนั่นเอง

………………………………..

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนาเป็นรุ่นแรก สังคมชมพูทวีปสมัยนั้นมีค่านิยมสุดโต่ง หนักหนาสาหัสกว่าสังคมไทยสมัยนี้หลายร้อยหลายพันเท่า 

ถอดออกมาเป็นคำเย้ยหยันก็ว่า – เทศน์ไปเถิด ไม่มีใครเขาอยากฟังหรอก

นั่นเป็นความจริง-ความจริงของโลก

แต่พระพุทธองค์ทรงมองเห็นความจริงของโลกอีกด้านหนึ่งด้วย ดังพุทธดำรัสอันเป็นประดุจยุทธศาสตร์ในการประกาศพระศาสนาตอนหนึ่งว่า –

………………………………..

สนฺติ  สตฺตา  อปฺปรชกฺขชาติกา 

อสฺสวนตา  ธมฺมสฺส  ปริหายนฺติ 

ภวิสฺสนฺติ  ธมฺมสฺส  อญฺญาตาโร.

ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ 

พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๓๒

………………………………..

ชาวโลกจำพวกที่กิเลสเบาบางยังมีอยู่ 

เพราะไม่ได้ฟังธรรม เขาเหล่านั้นย่อมสูญเสียโอกาสที่จะได้บรรลุธรรม

เมื่อแสดงธรรมออกไป คนที่รู้แจ้งเห็นจริงได้จะต้องมีอยู่

………………………………..

การที่เราชักชวนหรือกระตุ้นเตือนให้ใครๆ มีอุตสาหะทำความดีตามหน้าที่อันจะพึงทำ ไม่ได้แปลว่า เราไปบังคับกะเกณฑ์ว่าเขาจะต้องทำอย่างที่เราชวนให้ทำ

แต่เพราะเราเชื่อว่า “สนฺติ  สตฺตา  อปฺปรชกฺขชาติกา” 

เราจึงหวังว่า “ภวิสฺสนฺติ  ธมฺมสฺส  อญฺญาตาโร” 

อย่างน้อยก็ปิดปากคนที่จะตำหนิในภายหลังว่า …

ถ้าตอนนั้นคุณเตือนฉันสักหน่อย 

ฉันคงไม่ปล่อยให้เหลวไหลเลอะเทอะกันถึงปานนี้

เป็นความผิดของคุณเอง-ที่ไม่เตือนฉัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๕:๑๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *