บาลีวันละคำ

อุโปสถ (บาลีวันละคำ 67)

อุโปสถ

อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ

ประกอบด้วยคำว่า อุป + วส + อถ = อุโปสถ

แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปอยู่” หรือ “เข้าจำ

ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ” (อุ-โบ-สด) มีความหมาย 4 อย่าง –

1. การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถกรรม

2. การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล

3. วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ

(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)

4. สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (โบด)

ปัญหา : “ชายสามโบสถ์” มีความหมายว่าอย่างไร ?

บาลีวันละคำ (67)

11-7-55

อุโบสถ ๑

  [อุโบสด] น. เรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรมเช่นสวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ, เรียกย่อว่า โบสถ์; (ปาก) เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ; เรียกการแสดงพระปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุก ๆ กึ่งเดือน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ว่า การทําอุโบสถ; เรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ. (ป. อุโปสถ; ส. อุโปษธ, อุปวสถ).

อุโบสถ

1. การสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ทางวินัยของภิกษุทั้งหลาย และทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ด้วย, อุโบสถเป็นสังฆกรรมที่ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอและมีกำหนดเวลาที่แน่นอน มีชื่อเรียกย่อยออกไปหลายอย่าง การทำอุโบสถจะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบองค์สงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป ถ้าสงฆ์ครบองค์กำหนดเช่นนี้ทำอุโบสถ เรียกว่า สังฆอุโบสถ (มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามพุทธบัญญัติในอุโปสถขันธกะ, วินย.๔/๑๔๗/๒๐๑);

        ในกรณีที่มีภิกษุอยู่ในวัดเพียง ๒ หรือ ๓ รูป เป็นเพียงคณะ ท่านให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันและกันแทนการสวดปาฏิโมกข์ เรียกอุโบสถนี้ว่า คณอุโบสถ หรือ ปาริสุทธิอุโบสถ กล่าวคือ ถ้ามี ๓ รูป พึงให้รูปที่สามารถตั้งญัตติว่า

        “สุณนฺตุ เม อายสฺมนฺตา, อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส, ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, มยํ อญฺญมญฺญํ ปาริสุทฺธิอุโปสถํ กเรยฺยาม.”

        (ปณฺณรโส คือ ๑๕ ค่ำ ถ้า ๑๔ ค่ำ เปลี่ยนเป็น จาตุทฺทโส)

        จากนั้น ทั้งสามรูปพึงบอกความบริสุทธิ์ของตนไปตามลำดับพรรษา

        (พระเถระว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า ๓ ครั้ง; รูปอื่นเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต),

        ถ้ามี ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ เพียงบอกความบริสุทธิ์ของตนแก่กัน (พระเถระว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส, ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรหิ” ว่า ๓ ครั้ง;

        รูปที่อ่อนพรรษาเปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต และเปลี่ยน ธาเรหิ เป็น ธาเรถ);

        ถ้ามีภิกษุอยู่ในวัดรูปเดียว ท่านให้ทำเพียงอธิษฐาน คือตั้งใจกำหนดจิตว่า วันนี้เป็นอุโบสถของเรา (“อชฺช เม อุโปสโถ”) อุโบสถที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า ปุคคลอุโบสถ หรือ อธิษฐานอุโบสถ; อุโบสถที่ทำในวันแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า จาตุทสิก- ทำในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่า ปัณณรสิก- ทำในวันสามัคคี เรียกว่าสามัคคีอุโบสถ

2. อุโบสถ คือ การอยู่จำรักษาองค์ ๘ ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่า ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา นั้น จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

        ๑. ปกติอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามปกติชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ปัจจุบันนิยมรักษากันเฉพาะในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันจันทร์ดับ คือ แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ (ปกติอุโบสถอย่างเต็ม มี ๘ วัน คือ วัน ๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ของทุกปักษ์ ถ้าเดือนขาดรักษาในวันแรม ๑๓ ค่ำเพิ่มด้วย)

        ๒. ปฏิชาครอุโบสถ อุโบสถของผู้ตื่นอยู่ (คือผู้กระตือรือร้นขวนขวายในกุศล ไม่หลับใหลด้วยความประมาท) ได้แก่ อุโบสถที่รักษาครั้งหนึ่งๆ ถึง ๓ วัน คือ รักษาในวันอุโบสถตามปกติ พร้อมทั้งวันก่อนและวันหลังของวันนั้น ซึ่งเรียกว่า วันรับและวันส่งด้วย เช่น อุโบสถที่รักษาในวัน ๕ ค่ำ มีวัน ๗ ค่ำ เป็นวันรับ วัน ๙ ค่ำ เป็นวันส่ง (เดือนหนึ่งๆ จะมีวันรับและวันส่งรวม ๑๑ วัน, วันที่มิใช่วันอุโบสถ ในเดือนขาดมี ๑๐ วัน เดือนเต็ม ๑๑ วัน)

        ๓. ปาฏิหาริยอุโบสถ อุโบสถที่พึงนำไปซ้ำอีกๆ หรือย้อนกลับไปนำเอามาทำ คือรักษาให้เป็นไปตรงตามกำหนดดังที่เคยทำมาเป็นประจำในแต่ละปี หมายความว่า ในแต่ละปีมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้เฉพาะที่จะรักษาอุโบสถประเภทนี้ อย่างสามัญ ได้แก่ อุโบสถที่รักษาเป็นประจำตลอด ๓ เดือน ในพรรษา (อย่างเต็มได้แก่รักษาตลอด ๔ เดือน แห่งฤดูฝน คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, ถ้าไม่สามารถรักษาตลอด ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน จะรักษาเพียง ๑ เดือน ระหว่างวันปวารณาทั้งสอง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็ได้, อย่างต่ำสุดพึงรักษากึ่งเดือนต่อจากวันปวารณาแรกไป คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑);

        อย่างไรก็ตาม มติในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับอุโบสถ ๒ ประเภทหลังนี้ คัมภีร์ต่างๆ ยังแสดงไว้แตกต่างไม่ลงกันบ้าง ท่านว่าพอใจอย่างใด ก็พึงถือเอาอย่างนั้น เพราะแท้จริงแล้ว จะรักษาอุโบสถในวันใดๆ ก็ใช้ได้ เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้ารักษาได้ในวันตามนิยมก็ย่อมควร

3. วันอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ คือ วันจันทร์เพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) และวันจันทร์ดับ (แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำเมื่อเดือนขาด), สำหรับคฤหัสถ์ คือ วันพระ ได้แก่ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ และวันจันทร์ดับ

4. สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกตามศัพท์ว่า อุโปสถาคาร หรือ อุโปสถัคคะ (โรงอุโบสถ), ไทยมักตัดเรียกว่า โบสถ์

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย