บาลีวันละคำ

สงฺคายนา (บาลีวันละคำ 68)

สงฺคายนา

อ่านว่า สัง-คา-ยะ-นา

ประกอบขึ้นจาก สํ = พร้อมกัน + เค (ธาตุ = ขับขาน) + ยุ ปัจจัย

(สํ เป็น สงฺ, เค เป็น คาย, ยุ เป็น อน = สงฺ + คาย + = สงฺคายนา)

แปลตามศัพท์ว่า “การขับขานพร้อมกัน” “การสวดพร้อมกัน

สังคายนา” คือ พระสงฆ์มาร่วมกันซักซ้อมสอบทานคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ตรงกัน แล้วสวดพร้อมกัน คือตกลงยอมรับไว้ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

คำที่มีความหมายเหมือนกันอีกคำหนึ่ง คือ “สงฺคีติ” (สัง-คี-ติ) ที่เราคุ้นกันในภาษาไทยว่า “สังคีต” ซึ่งมีความหมายตามรากศัพท์ว่า “การบรรเลงรวม”  “การขับร้องหมู่”

การขับร้องหมู่ ทุกคนต้องจำเนื้อร้องได้ตรงกัน ถ้าร้องผิดคำกันก็จะขัดกันทันที

ดังนั้น “สังคายนา = การสวดพร้อมกัน” จึงเป็นหลักประกันว่า พระสงฆ์ทุกรูปจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้ตรงกัน ไม่ขัดแย้งกัน

สังคายนา จึงมีความหมายโดยสรุปว่า “ตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกัน” ขยายความไปถึงว่า อะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่เรียบร้อย ก็ชำระสะสางให้ถูกต้องเรียบร้อย

ปัญหา : ในบ้านเมืองของเรา อะไรบ้างที่ควรจะ “สังคายนา” กันเสียที

บาลีวันละคำ (68)

13-7-55

สงฺคายน = การสังคายนา, การร้อยกรอง, การรวบรวมพระรรมวินัย (สงฺคีติ) (ศัพท์วิเคราะห์)

วิปฺปกิณฺณานํ ธมฺมวินยานํ สงฺคเหตฺวา คายนํ กถนํ สงฺคายนํ การรวบรวมพระธรรมวินัยที่กระจัดกระจายอยู่แล้วสวดกัน

สํ บทหน้า เค ธาตุ ในความหมายว่าส่งเสียง ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, เอ เป็น อย, ทีฆะ อ เป็น อา, แปลง ยุ เป็น อน

สงฺคีติ = สังคายนา, การร้อยกรอง (ศัพท์วิเคราะห์)

สํ + เค + ติ แปลง เอ เป็น อี

สังคายนา, สังคายนาย (พจน.54)

 [-คายะ-, -คายยะ-] น. การซักซ้อม, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน.(ปาก) ก. สะสาง เช่น เรื่องนี้ต้องสังคายนากันเสียที. (ป. สงฺคายน).

สังคีติ

 น. สังคายนา, การสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน, การประชุมชําระพระไตรปิฎกให้เป็นแบบเดียวกัน. (ป.).

สังคายนา (ประมวลศัพท์)

“การสวดพร้อมกัน” การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยพร้อมกันทบทวนสอบทานจนยอมรับและวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว

        “สังคายนา” คือ การสวดพร้อมกัน เป็นกิริยาแห่งการมาร่วมกันซักซ้อมสอบทานให้ลงกันแล้วสวดพร้อมกันคือตกลงยอมรับไว้ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย