บาลีวันละคำ

สิกขมานา (บาลีวันละคำ 1,682)

สิกขมานา

อ่านว่า สิก-ขะ-มา-นา

บาลีเขียน “สิกฺขมานา” (มีจุดใต้ กฺ) เป็นคำกริยา ประกอบด้วย สิกฺขฺ (ธาตุ = ‘ยึดเอาความรู้’, ศึกษา, เล่าเรียน) + มาน (มา-นะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

หลักไวยากรณ์ :

มาน ปัจจัย เป็นปัจจัยใน “กิริยากิตก์” (กิ-ริ-ยา-กิด) ซึ่งเป็นกริยารูปแบบหนึ่งในบาลี คู่กับ “กิริยาอาขยาต” (กิ-ริ-ยา-อา-ขฺ-หฺยาด)

มาน เป็นปัจจัยบ่งปัจจุบันกาล (present tense) ใช้ลงท้ายธาตุ แปลว่า “-อยู่” เช่น :

คจฺฉมาน = ไปอยู่ (การไปกำลังดำเนินไป ยังไม่เสร็จ คือยังไปไม่ถึงจุดหมาย)

ภุญฺชมาน = กินอยู่ (การกินกำลังดำเนินไป ยังกินไม่เสร็จ คือยังไม่อิ่ม)

: สิกฺขฺ + มาน = สิกฺขมาน แปลว่า “ศึกษาอยู่” คือกำลังศึกษา ยังศึกษาไม่จบ

สิกฺขมาน” เมื่อใช้เป็นกริยาของสตรี + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิกฺขฺมาน + อา = สิกฺขมานา หมายถึง สตรีผู้กำลังศึกษาอยู่ (ยังไม่สำเร็จการศึกษา)

สิกฺขมานา” นอกจากเป็นคำกริยาแล้ว ยังใช้เป็นคำนามพิเศษ หมายถึง สามเณรีผู้อยู่ในระหว่างฝึกศึกษาเพื่อเป็นภิกษุณี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิกฺขมานา” ว่า a young woman undergoing a probationary course of training in order to become a nun = นางสิกขมานา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สิกฺขมานา” เป็นอังกฤษว่า –

Sikkhamānā : a female novice undergoing a probationary course of two years (before receiving the higher ordination).

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ใช้คำว่า young woman ซึ่งหมายถึง “ผู้หญิง” ธรรมดา แต่พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ใช้คำว่า female novice ซึ่งบ่งชัดว่าเป็น “สามเณรี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สิกขมานา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

สิกขมานา : (คำโบราณ) (คำนาม) สามเณรีที่มีอายุครบ ๑๘ ปี ก่อนอุปสมบทเป็นภิกษุณีจะต้องรักษาสิกขาบท ๖ ประการ เป็นเวลา ๒ ปี. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สิกขมานา” ไว้ดังนี้ –

สิกขมานา : นางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง 18 ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท 6 ประการ ตั้งแต่ ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา 2 ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งต้นไปใหม่อีก 2 ปี) ครบ 2 ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท 6 ประการอย่างเคร่งครัดนี้เรียกว่า นางสิกขมานา.”

…………..

เข้าใจให้ถูก :

เรามักเข้าใจกันว่า สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องผ่านการเป็น “สิกขมานา” มาก่อน

ในคัมภีร์เล่าประวัติของพระกุมารกัสสปะ พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่งว่า ท่านคลอดเมื่อมารดาบวชเป็นภิกษุณีแล้ว นั่นหมายถึงภิกษุณีที่เป็นมารดาของท่านตั้งครรภ์ก่อนบวช

และนั่นแสดงว่า ภิกษุณีที่เป็นมารดานั้นไม่ได้เป็นสิกขมานามาก่อน เพราะถ้าเป็นสิกขมานา 2 ปี นางจะตั้งครรภ์ได้อย่างไร

จึงได้ข้อยุติว่า “สิกขมานา” เป็นเรื่องเฉพาะสามเณรีเท่านั้น กล่าวคือสตรีที่อายุยังไม่ถึง 20 ถ้าบวชเป็นสามเณรี เมื่อจะบวชเป็นภิกษุณีต่อไป (เทียบกับสามเณรก็คือญัตติเป็นภิกษุ) จะต้องเป็น “สิกขมานา” ก่อนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

ส่วนสตรีทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 20 ขึ้นไปสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ทันที ไม่ต้องเป็น “สิกขมานา” มาก่อน

…………..

ดูก่อนภราดา!

สิกขมานา” แปลว่า “ศึกษาอยู่

: ถ้าอยากเป็น ก็ต้องศึกษา

: ที่มีปัญหา เพราะไม่อยากศึกษา แต่อยากเป็น

11-1-60