วัชทัสสี (บาลีวันละคำ 3,219)
วัชทัสสี
ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด
อ่านว่า วัด-ชะ-ทัด-สี
ประกอบด้วยคำว่า วัช + ทัสสี
(๑) “วัช”
บาลีเป็น “วชฺช” อ่านว่า วัด-ชะ รากศัพท์มาจาก วชฺช (ธาตุ = ละ, เว้น) + อ (อะ) ปัจจัย
: วชฺชฺ + อ = วชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบัณฑิตพึงละหรือต้องละ” หมายถึง ข้อควรเว้น, ความผิด, บาป (that which should be avoided, a fault, sin)
บาลี “วชฺช” ภาษาไทยใช้เป็น “วัชชะ” ตรงตัวก็มี (กรณีใช้คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำ) ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “วัช” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัช ๒, วัช-, วัชชะ ๑ : (คำนาม) สิ่งที่ควรละทิ้ง; โทษ, ความผิด. (ป. วชฺช; ส. วรฺชฺย, วรฺชฺช).”
(๒) “ทัสสี”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทสฺสี” อ่านว่า ทัด-สี รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = ดู, เห็น; แสดง, ชี้แจง; ให้รู้, บอก) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส
: ทิสฺ > ทสฺสฺ + ณี > อี : ทสฺสฺ + อี = ทสฺสี (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติเห็น-” “ผู้มีปกติแสดง-” “ผู้มีปกติบอกให้รู้”
“ทสฺสี” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เห็น, พบ, ประจักษ์, สังเกตหรือกำหนดรู้ (seeing, finding, realizing, perceiving)
ศัพท์ว่า “ทสฺสี” นี้ ปกติใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส คือมีคำอื่นอยู่หน้าเสมอ เช่น “อตฺถทสฺสี” (อัด-ถะ-ทัด-สี) = ผู้เห็นประโยชน์, ผู้แสดงประโยชน์ “ธมฺมทสฺสี” (ทำ-มะ-ทัด-สี) = ผู้เห็นธรรม, ผู้แสดงธรรม
วชฺช + ทสฺสี = วชฺชทสฺสี (วัด-ชะ-ทัด-สี) แปลว่า “ผู้แสดงความผิด” หรือ “ผู้ชี้ให้เห็นความผิด”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วชฺชทสฺสี” ว่า finding fault (หาความ, กล่าวโทษ)
“วชฺชทสฺสี” แปลตรงตัวว่า “ชี้โทษ” หมายถึง คนที่บอกกล่าวให้เห็นข้อบกพร่องหรือสิ่งที่ผิดพลาดในเรื่องต่างๆ
“วชฺชทสฺสี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัชทัสสี” (วัด-ชะ-ทัด-สี) คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปรายขยายความ :
คนส่วนมากมักแยกไม่ออกระหว่าง “จับผิด” กับ “ชี้โทษ”
จับผิด (รนฺธคเวสก) คือเรื่องยังไม่ปรากฏ แต่ไปเที่ยวขุดคุ้ยข้อบกพร่องของเขาขึ้นมาพูดเพื่อให้เขาเสียหาย-เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ชี้โทษ (วชฺชทสฺสี) คือข้อบกพร่องผิดพลาดปรากฏอยู่ตรงหน้าโต้งๆ ชัดๆ แต่เจ้าตัวไม่รู้ หรืออาจไม่ทันรู้ตัว เราบอกให้เขารู้ด้วยความปรารถนาดี-เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ควรรู้กาละ เทศะ จังหวะเวลา
เวลานี้เรามักแยกไม่ออกว่าอย่างไรจับผิด อย่างไรชี้โทษ มองการชี้โทษเป็นการจับผิดไปหมด
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนเราคือ ไม่ชอบให้ใครมาชี้ข้อบกพร่อง ถ้าใครมาบอกว่า คำนี้คุณเขียนผิด เรื่องนี้คุณเข้าใจผิด งานนี้คุณทำผิด ฯลฯ คนส่วนใหญ่จะไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ผิดจริง
และธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนไทย คือ มักเกรงใจคนทำผิด ยิ่งถ้าผู้ทำผิดพลาดบกพร่องเป็นผู้ใหญ่กว่าด้วยแล้ว ยิ่งไม่กล้าแตะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทำผิดก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด จึงยังคงทำผิดเรื่อยไปเพราะไม่รู้ ไม่มีใครเตือน ครั้นพอจะมีใครเตือน ก็ถูกสกัดด้วยคำว่า “เอาแต่จับผิดชาวบ้าน” เท่ากับช่วยกันปกป้องการทำผิดให้ดำรงอยู่และขยายตัวต่อไป
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า –
………..
นิธีนํว ปวตฺตารํ
ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ
ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส
เสยฺโย โหติ น ปาปิโย.
แปลเป็นไทยว่า –
พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่มขี่ มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด
เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ
หามีโทษที่เลวทรามไม่
ที่มา: บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖
………..
ในคัมภีร์อรรถกถา (ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๔ เรื่องที่ ๖๐ ราธเถรวตฺถุ) อธิบายพุทธภาษิตบทนี้ ยกตัวอย่างพระภิกษุที่เป็นพระอุปัชฌาย์ไม่อบรมสั่งสอนภิกษุที่เป็นศิษย์
ภิกษุที่เป็นศิษย์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย หรือทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอย่างไร ก็ไม่ว่าไม่กล่าว เพราะกลัวศิษย์จะโกรธบ้าง กลัวศิษย์จะไม่รักบ้าง และเพราะกลัวศิษย์จะไม่อำนวยประโยชน์ให้ตนบ้าง
ท่านบอกว่าพระอุปัชฌาย์ชนิดนี้เปรียบเหมือนผู้เอาขยะมาเทไว้ในพระศาสนา
ในการอยู่รวมกันเป็นสังคมก็มีคติอย่างเดียวกัน รู้เห็นว่าใครทำอะไรผิดแล้วปล่อยปละละเลย อ้างว่าไม่ใช่ธุระของเรา ซ้ำอ้างว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้มองหาความผิดของคนอื่น ก็เท่ากับปล่อยให้มีคนทิ้งขยะรกสังคมนั่นเอง
เห็นคนทำผิดแล้วไม่ทักท้วง กำลังกลายเป็นมารยาทที่คนนิยมประพฤติกันทั่วไป คนทักท้วงจะถูกมองว่าเสียมารยาท
เหมือนเห็นคนทิ้งขยะเกลื่อนไปทุกถนนหนทาง แล้วไม่มีใครบอก ไม่มีใครเตือน ไม่มีใครเก็บ นับว่าเป็นค่านิยมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพื่อนแท้ย่อมไม่ปล่อยให้เพื่อนลืมรูดซิปกางเกง
: แล้วเดินเป็นนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง
#บาลีวันละคำ (3,219)
5-4-64