บาลีวันละคำ

สิทธิ (บาลีวันละคำ 4,105)

สิทธิ

มีได้ ก็ต้องใช้เป็น

สิทธิ” เขียนแบบบาลีเป็น “สิทฺธิ” อ่านว่า สิด-ทิ โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ ทฺ เขียนแบบบาลีถ้าไม่มีจุดใต้ คือเขียนเป็น “สิทธิ” เหมือนที่เขียนในภาษาไทย ต้องอ่านว่า สิ-ทะ-ทิ ซึ่งไม่มีคำเช่นนี้ในบาลี จุดใต้ ทฺ ทำให้ ทฺ เป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียง ทำให้ “สิทฺ-” อ่านว่า สิด- เหมือนที่อ่านคำไทย

สิทฺธิ” รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ

: สิธฺ + ติ = สิธฺติ (แปลง ติ เป็น ทฺธิ) > สิธฺทฺธิ (ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ) > สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิ, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น. (อ. right).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สิทธิ” ในภาษาไทยตรงกับคำอังกฤษว่า right

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง) 

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งชาติอังกฤษเป็นผู้ทำ ไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ว่า right

ขยายความ :

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สิทฺธิ” 3 คำ ขอยกมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อประกอบการศึกษา ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สิทฺธิ, สิทฺธ : (คำวิเศษณ์) ‘สิทธิ, สิทธ์,’ อันลุล่วงหรือเสร็จแล้ว; สมบูรณ์; อันพ้นทุกข์แล้ว; นิรันตร์; อันลือนาม; ประสิทธ์; อันตัดสินแล้ว (ดุจคดี); อันชอบด้วยกฎหมาย; อันชำนาญ; อันพิสูจน์แล้ว; อันทำเสร็จหรือแล้วๆ; อันหุงหรือต้มแล้ว; (คำใช้ในเภสัชศาสตร์) อันปรุงแล้ว; สุกใส, งาม; อันชำระแล้ว (ดุจหนี้); accomplished or completed; complete; emancipated or liberated; eternal; celebrated, famous; judged or decided (as a lawsuit); valid or legal; adept; demon; ated; finished; cooked or dressed; (in medicine) prepared or compounded; shinig, splendid; discharged or settlied (as a debt).

(2) สิทฺธิ : (คำนาม) ‘สิทธิ,’ ความสำเร็จลุล่วงหรือบัลลุถึงผลสำเร็จ; ทิพยบุรุษผู้มีอลักษิตลักษณะ; ปราชญ์; สิทธลิปิการ (ดุจวฺยาสและผู้อื่น); นักษัตรโยคที่ยี่สิบเอ็ด; อภิชญมายาการ, อภิชญมายาวิน; เกลือทะเล; completion or accomplishment; a divine personage of undefined attributes; a prophet or sage; a prophetic writer (as Vyāsa and others); the twenty-first of the astronomical Yogas; an adept magician; seasalt [ดูใต้ สิทฺธารฺถ see under สิทฺธารฺถ].

(3) สิทฺธิ : (คำนาม) ‘สิทธิ,’ ความบัลลุถึงผลสำเร็จ, วิภูษณาธิคมหรืออลังการลาภ; ปรมคติหรือความสิ้นชาติ, บรมสุข; บุณโยทัย, ความสมมโนรถ; วิทยา, พุทธิ; ความถูกต้องหรือถ่องแท้; ปราลพย์หรือความชอบธรรม (ในธรรมนีติ); การชำระณี่ (หรือหนี้); การปิดงำไว้เปนความลับ; ผลของการบูชาเทวดา; เขียงเท้า; เอาษธียมูล, รากไม้อันเปนยา; ความสำคัญใจว่าบัลลุถึงทิพยศักดิ์โดยเรียนจบมายาวิธี; accomplishment, ornamental acquirement; final emancipation from existence, supreme felicity; prosperity, success; knowledge, understanding; accuracy or correctness; validity (in law); discharge of a dept; concealment; the result of adoration of the gods; a wooden slipper; a medicinal root; the supposed acquirement of supernatural power of the completion of magical processes.”

จะเห็นว่า “สิทฺธิ” ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ทั้ง 3 คำ ก็ไม่มีคำแปลเป็นอังกฤษว่า right เช่นเดียวกัน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล right เป็นบาลีดังนี้:

(1) yathābhūta ยถาภูต (ยะ-ถา-พู-ตะ) = ตรงตามความเป็นจริง

(2) avitatha อวิตถ (อะ-วิ-ตะ-ถะ) = ไม่ผิดเพี้ยน

(3) dhammika ธมฺมิก (ทำ-มิ-กะ) = ถูกต้อง, เป็นธรรม

(4) dakkhiṇa ทกฺขิณ (ทัก-ขิ-นะ) = ถูก, ถนัด

(5) uju อุชุ (อุ-ชุ) = ตรง,

(6) niddosa นิทฺโทส (นิด-โท-สะ) = ปลอดโทษ, ไม่มีความผิด

(7) yutti ยุตฺติ (ยุด-ติ) = ความถูกต้อง

(8 ) ñāya ญาย (ยา-ยะ) = ความรู้ชัด

(9) dhamma ธมฺม (ทำ-มะ) = ธรรม, ความถูกต้อง

(10) āyatta-bhāva อายตฺตภาว (อา-ยัด-ตะ-พา-วะ) = ความพากเพียร, ความพร้อม

(11) pariggaha ปริคฺคห (ปะ-ริก-คะ-หะ) = การยึดครอง, การถือครอง

(12) dakkhiṇapassa ทกฺขิณปสฺส (ทัก-ขิ-นะ-ปัด-สะ) = ด้านขวา

(13) adhikāra อธิการ (อะ-ทิ-กา-ระ) = ยิ่งใหญ่, สำคัญ

(14) yathocitaṃ ยโถจิตํ (ยะ-โถ-จิ-ตะ) = ตรงตามที่ได้รับรู้มา

(15) sādhukaṃ สาธุกํ (สา-ทุ-กัง) = ถูกต้อง

(16) bhaddhaṃ ภทฺทํ (พัด-ทัง) = ดีงาม, เหมาะสม

(17) sādhu สาธุ (สา-ทุ) = ดี, ใช่, ถูกต้อง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล right เป็นบาลีหลายคำตามที่เห็น แต่ไม่มีคำแปลเป็นบาลีว่า “สิทฺธิ” 

มีที่พอจะใกล้เคียงที่สุดก็คือ “สาธุ” และ “สาธุกํ” 2 คำนี้แปลโดยพยัญชนะว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “ดีละ

เป็นอันว่า “สิทฺธิ” ในภาษาบาลี ไม่ใช่ right ในภาษาอังกฤษ

สิทธิ” ที่หมายถึง right ในภาษาอังกฤษเป็น “สิทธิ” ตามแบบไทย คือตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย

แถม :

สิทธิ” ตามแบบไทย คือ “อย่างอิสระ” หมายถึง อยากทำอะไรก็ต้องได้ทำ ควรมีหรือควรได้อะไรก็ต้องมีต้องได้ ระวังเพียงแค่ “ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น” 

ส่วน “โดยสุจริต” นั้น ไม่สู้เคร่งครัดนัก เลี่ยงได้ก็เลี่ยง สิทธิบางอย่างได้มาโดยทุจริตก็มี เป็นที่รู้กัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่คนเดียวไม่ต้องคิด มีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้

: อยู่สองคนขึ้นไป ต้องคิดให้ดีก่อนทำ

#บาลีวันละคำ (4,105)

8-9-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *