บาลีวันละคำ

อนุทิน (บาลีวันละคำ 3,224)

อนุทิน

ถุงใส่อารมณ์ส่วนตัว

อ่านว่า อะ-นุ-ทิน

ประกอบด้วยคำว่า อนุ + ทิน

(๑) “อนุ” (อะ-นุ)

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

ในที่นี้ “อนุ” มีความหมายว่า “ตาม

(๒) “ทิน

บาลีอ่านว่า ทิ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ทา (ธาตุ = ให้) + อิน ปัจจัย, ลบ อา ที่ ทา (ทา > )

: ทา > + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาที่ให้ความพยายามและความยืนหยัด” ความหมายนี้หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายลุกขึ้นมาทำการงาน

(2) ทิวุ (ธาตุ = รื่นเริง, สนุกสนาน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง วุ ที่ ทิวุ เป็น นฺ (ทิวุ > ทิน)

: ทิวุ > ทิน + = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นที่รื่นเริง” ความหมายนี้ก็หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่มีแสงสว่าง พ้นจากเวลาที่มืดมิด ทำให้เกิดอาการกระปรี้กระเปร่า

(3) ที (ธาตุ = สิ้นไป) + อิน ปัจจัย, ลบ อี ที่ ที (ที > )

: ที > + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอายุ” ความหมายนี้หมายถึงทั้งกลางวันและกลางคืน คือที่เรียกรวมว่า “วัน” เมื่อวันล่วงไปๆ อายุ คือช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ก็หมดไป

สรุปว่า “ทิน” หมายถึง วัน, กลางวัน (day)

อนุ + ทิน = อนุทิน บาลีอ่านว่า อะ-นุ-ทิ-นะ แปลตามตัวว่า “ตามวัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุทิน : (คำนาม) สมุดบันทึกประจําวัน.”

อนุทิน” หรือสมุดบันทึกประจําวัน หมายถึง สมุดที่เขียนตามวัน คือวันล่วงไปวันหนึ่งหรือหลายวันแล้ว จึงเขียนตามหลัง

= วันไปข้างหน้า เขียนตามไปข้างหลัง

นี่เป็นการแปลโดยเอาข้อเท็จจริงมาคำนึงถึงด้วย เพราะโดยธรรมดาแล้วการเขียนอนุทินเราไม่ได้เขียนล่วงหน้า เหตุการณ์ในวันนั้นผ่านไปแล้วเราจึงเขียนบันทึกตามหลัง “อนุ” ในคำว่า “อนุทิน” จึงต้องหมายถึง “ตามวัน” ไม่ใช่ “วันเล็กๆ น้อยๆ

ขยายความ :

เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า “อนุทิน” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า diary

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล diary เป็นไทยว่า บันทึกประจำวัน, หมายเหตุประจำวัน, อนุทิน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล diary เป็นบาลีดังนี้:

(1) devasika-potthaka เทวสิกโปตฺถก (เท-วะ-สิ-กะ-โปด-ถะ-กะ) = สมุดบันทึกรายวัน

หมายเหตุ: “เทวสิก” = เป็นประจำวัน, ทุก ๆ วัน (daily, every day)

(2) patidina-lekhana ปฏิทินเลขน (ปะ-ติ-ทิ-นะ-เล-ขะ-นะ) = “เขียนเฉพาะวัน” > สมุดบันทึกประจำวัน

โปรดสังเกต: พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ใช้คำว่า “ปฏิทิน” ไม่ใช่ “อนุทิน

…………..

ดูเพิ่มเติม: “ปฏิทิน” บาลีวันละคำ (839) 4-9-57

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/706562882770785

…………..

แถม :

นักเรียนไทยรุ่นเก่ามักจะได้รับคำแนะนำจากครูให้เขียนอนุทินทุกวันให้เป็นนิสัย การเขียนอนุทินเป็นวิธีฝึกให้รู้จักสรุปเหตุการณ์ การเรียบเรียงเรื่องราว การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดหรือความคิดเห็น และฝึกการใช้ภาษาเขียนที่ดีที่ถูกต้อง เป็นการฝึกทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ครบสูตรในกระบวนการสื่อสาร

อนุทิน” อุปมาเหมือนถุงสำหรับใส่อารมณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ชอบใครชังใครก็ระบายใส่ไว้ในถุง ไม่ไปกระทบกระเทือนหรือรบกวนใคร

เข้าใจว่า ครูคงจะไม่ได้แนะนำนักเรียนไทยรุ่นใหม่ให้มีใจรักในการเขียนอนุทินกันอีกแล้ว นอกจากภาษาไทยจะเรียวลงอย่างน่าใจหายแล้ว คนสมัยนี้ชอบใครชังใครก็ระบายอารมณ์ออกมากระจายเกลื่อนกลาดไปตามถนนหนทาง ทำให้บรรยากาศการสื่อสารในสังคมตลบอบอวลไปด้วยแสง สี เสียง กลิ่น รส สารพัดชนิด

ถ้าไม่ตั้งสติให้มั่นคง ผู้เสพสารก็อาจจะเกิดอาการคลื่นเหียนวิงเวียนกันได้โดยทั่วหน้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บันทึกเรื่องที่อยากจำไว้ในใจได้ทุกเรื่อง

: แต่อย่าถ่ายทอดออกมาทุกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (3,224)

10-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย