บูรณาการ (บาลีวันละคำ 3,226)
บูรณาการ
เติมให้เต็ม
อ่านว่า บู-ระ-นา-กาน
แยกศัพท์เป็น บูรณ + อาการ
(๑) “บูรณ”
บาลีเป็น “ปูรณ” (ปู-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม, ทำให้เต็ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง อน เป็น อณ
: ปูร + ยุ > อน = ปูรน > ปูรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความเต็ม” “การทำให้เต็ม” หมายถึง ทำให้เต็ม (filling)
บาลี “ปูรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุรณ-” “บุรณะ” “บูรณ-” และ “บูรณ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) บุรณะ : (คำกริยา) บูรณะ, ซ่อมแซมทำให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เช่น บุรณะวัด, มักใช้เข้าคู่กับ ปฏิสังขรณ์ เป็น บุรณปฏิสังขรณ์. (ส. ปูรณ; ป. ปุณฺณ).
(2) บูรณะ : (คำกริยา) ซ่อมแซมทําให้กลับคืนดีเหมือนเดิม เช่น บูรณะวัด, มักใช้เข้าคู่กับ ปฏิสังขรณ์ เป็น บูรณปฏิสังขรณ์; (ส. ปูรณ ป. ปุณฺณ).
(2) บูรณ-, บูรณ์ : (คำวิเศษณ์) เต็ม. (ป., ส. ปูรณ).
(๒) “อาการ”
บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กร > การ)
: อา + กรฺ = อากรฺ + ณ = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” “ผู้ทำทั่วไป”
“อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)
(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)
(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)
(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)
(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อาการ” ในภาษาสันสกฤตไว้ว่า –
“อาการ : (คำนาม) การกล่าวท้วง; ลักษณะ; รูป; a hint; a sign or token; form.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ว่า –
(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.
(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.
(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.
(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี 32 อย่าง เรียกว่า อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.
ในที่นี้ “อาการ” ใช้ในความหมายตรงตัวว่า “การทำทั่วไป” หรือ “การทำให้ยิ่งขึ้น”
ปูรณ + อาการ = ปูรณาการ (ปู-ระ-นา-กา-ระ) แปลว่า “การทำให้เต็มยิ่งขึ้น” หมายความว่า เดิมยังไม่เต็ม แต่มาทำให้ยิ่งขึ้น คือทำให้เต็ม (ไม่ได้หมายความว่าเดิมเต็มอยู่แล้ว แล้วมาทำให้เต็มยิ่งขึ้นไปอีก)
“ปูรณาการ” ใช้แบบไทยเป็น “บูรณาการ”
คำว่า “บูรณาการ” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า integration เพราะฉะนั้น ควรจะกล่าวว่า “บูรณาการ” ถ้าเทียบกลับเป็นบาลีก็เป็น “ปูรณาการ” มีรากศัพท์ดังที่แสดงมา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บูรณาการ : (คำนาม) กระบวนการผสมผสานเชื่อมโยงองค์ความรู้ตั้งแต่ ๒ องค์ความรู้ขึ้นไปเข้าด้วยกันอย่างสอดคล้องเป็นระบบ. (อ. integration).”
ขยายความ :
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล integration และ integrate เป็นไทยว่า –
1. ทำให้เป็นหน่วย เป็นก้อน เป็นตัว เป็นจำนวนเต็มหรือสมบูรณ์ขึ้น, รวบรวม, รวบรวม (เอเซียอาคเนย์) ให้เป็นประเทศเดียว
2. หาจำนวนเต็ม ในวิชา calculus
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “บูรณาการรวมหน่วย” บอกไว้ว่า –
“บูรณาการรวมหน่วย : (คำนาม) การนําหน่วยที่แยก ๆ กันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.”
เข้าใจว่าจะเป็นคำที่บัญญัติมาจากคำอังกฤษ integration นี่เอง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “บูรณาการรวมหน่วย” ออกไป และมีคำว่า “บูรณาการ” มาแทน
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล integrate เป็นบาลี ดังนี้:
(1) asesa อเสส (อะ-เส-สะ) = ไม่เหลือเศษ, ไม่มีเศษ คือเต็มๆ
(2) akhaṇḍa อขณฺฑ (อะ-ขัน-ดะ) = ไม่เป็นชิ้น คือไม่แยกเป็นชิ้น แต่รวมกันอยู่ทั้งหมด
(3) paripuṇṇa ปริปุณฺณ (ปะ-ริ-ปุน-นะ) = เต็มที่, บริบูรณ์
(4) paripuṇṇaṃ karoti ปริปุณฺณํ กโรติ (ปะ-ริ-ปุน-นัง กะ-โร-ติ) = ทำให้เต็มที่, ทำให้บริบูรณ์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยังไม่เต็ม ช่วยเติมให้เต็ม
: เต็มจนล้น ช่วยเอาออกให้พอดี
: พอดีอยู่แล้ว ช่วยดูเฉยๆ
#บาลีวันละคำ (3,226)
12-4-64