เทฺว อุโภ ยมก (บาลีวันละคำ 3,230)
เทฺว อุโภ ยมก
ใช้ต่างกันอย่างไร
นักเรียนบาลีเห็นศัพท์ 3 คำนี้แล้วย่อมรู้คำแปลได้ดี
“เทฺว” อ่านว่า ทัว-เอ แปลว่า “สอง”
“อุโภ” อ่านว่า อุ-โพ แปลว่า “ทั้งคู่” หรือ “ทั้งสอง”
“ยมก” อ่านว่า ยะ-มะ-กะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เว้นจากเดี่ยว” หมายถึง สิ่งที่เป็นคู่
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ศัพท์หมายถึงสิ่งที่มีจำนวนสองหรือสิ่งที่เป็นคู่ แต่ “จำนวนสอง” หรือ “สิ่งที่เป็นคู่” แบบไหนใช้ “เทฺว” แบบไหนใช้ “อุโภ” แบบไหนใช้ “ยมก” จะรู้ได้อย่างไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอหลักการใช้ศัพท์ทั้ง 3 คำตามที่ได้สังเกตเห็นดังนี้ –
(๑) “เทฺว” ใช้กับสิ่งที่เหมือนกันที่มีจำนวนสอง เช่น คน 2 คน แมว 2 ตัว รถ 2 คัน บ้าน 2 หลัง
ขยายความ : ผู้ชาย 1 คน กับผู้หญิง 1 คน เรียกว่า “ผู้ชาย 2 คน” หรือ “ผู้หญิง 2 คน” ไม่ได้ เพราะผู้ชายมีคนเดียวและผู้หญิงก็มีคนเดียว แต่รวมกันเรียกว่า “คน 2 คน” ได้ เพราะผู้ชายก็เป็นคน ผู้หญิงก็เป็นคน
แมว 1 ตัว หมา 1 ตัว รวมกันเรียกว่า “แมว 2 ตัว” หรือ “หมา 2 ตัว” ไม่ได้ แต่เรียกว่า “สัตว์ 2 ตัว” ได้
นี่คือความหมายที่ว่า “สิ่งที่เหมือนกันที่มีจำนวนสอง”
(๒) “อุโภ” ใช้กับสิ่งที่นิยมว่าเป็น “ของคู่กัน” โดยปกติ โดยธรรมชาติ หรือโดยความนิยมของสังคม เช่น สามีกับภรรยา บิดากับมารดา อาจารย์กับศิษย์ ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์
ของที่คู่กับเหล่านี้ ใช้ศัพท์ว่า “อุโภ”
ขยายความ : “อุโภ” เพ่งเล็งหรือเน้นที่ “ความเป็นคู่” ของสิ่งนั้นๆ ไม่ได้เล็งไปที่ “จำนวนสอง” เหมือน “เทฺว”
(๓) “ยมก” ใช้กับของ 2 สิ่งที่ถูกนำมาเทียบคู่กันตามวัตถุประสงค์ เช่น ดีกับชั่ว ขาวกับดำ สว่างกับมืด พาลกับบัณฑิต
ขยายความ : คู่หรือสองแบบ “ยมก” เป็นคู่ที่ถูกจัดเทียบตามเจตนาหรือวัตถุประสงค์เฉพาะกรณีนั้นๆ ของสิ่งนั้นตามปกติแล้วไม่จำเป็นจะต้องคู่กัน แต่ด้วยความประสงค์บางอย่างจึงถูกนำมากล่าวถึงแบบ “จับคู่” กัน
ตัวอย่างการจับคู่แบบ “ยมก” ก็เช่น –
“ยมกวรรค” ในคัมภีร์ธรรมบท ที่ยกจิตที่เป็นกุศลกับจิตที่เป็นอกุศลเป็นต้นมาเข้าคู่กัน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างแบบตรงกันข้าม (จิตที่เป็นกุศลไม่จำเป็นต้องเข้าคู่กับจิตที่เป็นอกุศลทุกรณีไป)
“ยมกปาฏิหาริย์” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงบำราบเดียรถีย์ ทรงบันดาลให้ “ท่อน้ำ” กับ “ท่อไฟ” พวยพุ่งออกมาจากพระกาย นี่คือทรงนำ “ท่อน้ำ” กับ “ท่อไฟ” มาเข้าคู่กัน (ท่อน้ำไม่จำเป็นต้องเข้าคู่กับท่อไฟทุกกรณีไป)
หมายเหตุ : ที่แสดงมานี้เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนตัวที่เห็นว่ามักเป็นเช่นนี้เท่านั้น บางที่บางแห่งบางกรณีท่านอาจใช้ไม่ตรงตามที่ว่านี้ก็ได้
และนักเรียนบาลีท่านอื่นๆ อาจเห็นด้วยตามนี้หรืออาจเห็นต่างไปจากนี้ก็ย่อมได้ ท่านผู้ใดเห็นอย่างไรมีสิทธิ์แสดงเหตุผลและหลักฐานสู่กันฟัง ทั้งนี้เพื่อความจำเริญแห่งการศึกษาภาษาบาลี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โลกนี้จะสวยงามน่าดู
: ถ้ามนุษย์จับคู่ชวนกันทำความดี
#บาลีวันละคำ (3,230)
16-4-64