บาลีวันละคำ

มหาการุณิโก (บาลีวันละคำ 3,231)

มหาการุณิโก

เรียกเสียโก้ว่า “พระมหา”

มีบทสวดมนต์ที่ชาวพุทธเราเรียกกันติดปากอยู่บทหนึ่ง คือ “มหากา” บางทีก็เรียกอย่างเคารพว่า “พระมหากา” คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เรียนรู้อาจสงสัยว่า “พระมหากา” คือใคร

คำว่า “มหากา” เป็นคำที่เรียกตัดมาจากคำเต็มว่า “มหาการุณิโก” คำหลักคือ “มหาการุณิโก

มหาการุณิโก” (มะ-หา-กา-รุ-นิ-โก) รูปคำเดิมคือ “มหาการุณิก” (มะ-หา-กา-รุ-นิ-กะ) ประกอบด้วย มหากรุณา + ณิก ปัจจัย

[1] “มหากรุณา” ประกอบด้วย มหา + กรุณา

(๑) “มหา” (มะ-หา)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –กรุณา เปลี่ยนรูปเป็น “มหา

(๒) “กรุณา” รากศัพท์มาจาก –

(1) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อุณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กรฺ + อุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนดีเมื่อผู้อื่นมีทุกข์

(2) บทหน้า + รุธิ (ธาตุ = ปิด, กั้น) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ ธิ) เป็น อ, ธ เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + รุธิ > รุธ > รุณ + = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กั้นความสุขไว้” (คือห้ามความสุขตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น)

(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง (ที่ –รฺ) เป็น อุ, ยุ เป็น อน, เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กรฺ > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่น

(4) กิรฺ (ธาตุ = กำจัด, ปัดเป่า) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ-) เป็น , เป็น อุ, ยุ เป็น อน, เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กำจัด” (คือกำจัดทุกข์ของผู้อื่น)

(5) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุณ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ) เป็น อ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กิ > + รุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่เบียดเบียน” (คือเบียดเบียนความเห็นแก่ตัวออกไป)

(6) กิรฺ (ธาตุ = กระจาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ-) เป็น , เป็น อุ, ยุ เป็น อน, เป็น + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กระจาย” (คือแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น)

กรุณา” หมายถึง ความกรุณา, ความสงสาร (pity, compassion)

มหา + กรุณา = มหากรุณา แปลว่า “ความกรุณาอย่างยิ่งใหญ่” (great compassion)

[2] มหากรุณา + ณิก ปัจจัย, ลบ , “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (กรุ)-ณา (กรุณา > กรุณ) แล้วทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ -(รุณ) เป็น อา (กรุณ > การุณ),

: มหากรุณา + ณิก = มหากรุณาณิก > มหากรุณณิก > มหากรุณิก > มหาการุณิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความกรุณาอย่างยิ่งใหญ่

มหาการุณิก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มหาการุณิโก

ขยายความ :

มหาการุณิโก” เป็นชื่อบทสวดบทหนึ่งมีชื่อว่า “ชยปริตร” แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักชื่อนี้ มักเรียกกันเป็นสามัญว่า “มหากา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ชยปริตร” มีคำอธิบายดังนี้ –

…………..

ชยปริตร : “ปริตรแห่งชัยชนะ”, ปริตรบทหนึ่ง ประกอบด้วยคาถาที่แต่งขึ้นใหม่ในยุคหลัง โดยนำเอาพุทธพจน์ (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯเปฯ สห สพฺเพหิ ญาติภิ, องฺ.ติก.๒๐/๕๙๕/๓๗๙) มาตั้งเป็นแกน เริ่มต้นว่า “มหาการุณิโก นาโถ” จัดเป็นปริตรบทที่ ๑๒ (บทสุดท้าย) ใน “สิบสองตำนาน”

ชยปริตรนี้ นิยมสวดกันมาก นอกจากใช้สวดรวมในชุดสิบสองตำนาน และพ่วงท้ายเจ็ดตำนานแล้ว ยังตัดเอาบางส่วนไปใช้ต่างหากจากชุด สำหรับสวดในพิธีหรือในโอกาสอื่นด้วย เช่น นำไปสวดต่อจากชยมังคลัฏฐกคาถา (พุทธชัยมงคลคาถา) ในการถวายพรพระ และจัดเป็นบทเฉพาะสำหรับสวดในกำหนดพิธีพิเศษหรือมงคลฤกษ์ต่างๆ เป็นต้นว่า โกนผมไฟ ตัดจุก วางศิลาฤกษ์ เปิดงาน เปิดร้าน รับพระราชทานปริญญาบัตร เททองหล่อพระ เรียกว่า เจริญชัยมงคลคาถา

ชยปริตรที่นำบางส่วนมาใช้นั้น เรียกส่วนที่นำเอามาว่า ชยปริตตคาถา (คาถาของชยปริตร คือไม่ใช่เต็มทั้งชยปริตร), โดยเฉพาะชยปริตตคาถาส่วนที่นำมาใช้ในการเจริญชัยมงคลคาถา เรียกชื่อเป็นพิเศษว่า ชัยมงคลคาถา  ….

เมื่อสวดชัยมงคลคาถานี้จบแล้ว ก็ต่อลงท้ายด้วยสัพพมังคลคาถา (มังคลโสตถิคาถา ก็เรียก) คือ “ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯเปฯ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต” เป็นอันจบการเจริญชัยมงคลคาถา.

…………..

แถม :

ขอนำบท “ชยปริตร” พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอเป็นอภินันทนาการดังต่อไปนี้ (ในที่นี้เขียนแบบคำอ่าน)

…………..

มะหาการุณิโก  นาโถ

หิตายะ  สัพพะปาณินัง

ปูเรต๎วา  ปาระมี  สัพพา

ปัตโต  สัมโพธิมุตตะมัง.

ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ ประกอบด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็ม เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ถึงแล้วซึ่งความตรัสรู้อันอุดม

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โหตุ  เต  ชะยะมังคะลัง.

ด้วยความกล่าวสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ชะยันโต  โพธิยา  มูเล

สัก๎ยานัง  นันทิวัฑฒะโน

เอวัง  ต๎วัง  วิชะโย  โหหิ

ชะยัสสุ  ชะยะมังคะเล,

อะปะราชิตะปัลลังเก

สีเส  ปะฐะวิโปกขะเร

อะภิเสเก  สัพพะพุทธานัง

อัคคัปปัตโต  ปะโมทะติ.

ขอท่านจงมีชัยชนะในมงคลพิธีเหมือนพระจอมมุนีทรงชนะมารที่โคนโพธิพฤกษ์ ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก ทรงปราโมทย์อยู่เหนืออปราชิตบัลลังก์อันสูง เป็นจอมมหาปฐพี ทรงเพิ่มพูนความยินดีแก่เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ ฉะนั้นเทอญ.

สุนักขัตตัง  สุมังคะลัง

เวลาที่ประพฤติชอบ ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี

สุปปะภาตัง  สุหุฏฐิตัง

สว่างดี รุ่งดี

สุขะโณ  สุมุหุตโต  จะ

แลขณะดี ครู่ดี

สุยิฏฐัง  พ๎รัห๎มะจาริสุ

บูชาแล้วดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

ปะทักขิณัง  กายะกัมมัง

กายกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

วาจากัมมัง  ปะทักขิณัง

วจีกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะทักขิณัง  มะโนกัมมัง

มโนกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะณิธี  เต  ปะทักขิณา

ความปรารถนาของท่านเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะทักขิณานิ  กัต๎วานะ

ละภันตัตเถ  ปะทักขิเณ.

สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวาแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลายอันเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทั้งผู้สวดผู้ฟังตั้งสติ

: สมาธิกับปัญญาย่อมมาเสมอ

: เพชรในมนต์ค้นที่ใจหาให้เจอ

: ถ้าใจเซ่อปากสวดก็ชวดชม

#บาลีวันละคำ (3,231)

17-4-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *