บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง กฐินมาแล้ว

กฐินมาแล้ว (๕) (จบ)

———–

ใกล้จะออกพรรษา ใกล้จะถึงหน้ากฐิน

หาความรู้เรื่องกฐินกันไว้ก่อน

———–

ตอนที่ ๕ : วิธีแก้ปัญหาวัดที่มีพระไม่ถึง ๕ รูป

———–

วัดที่มีพระไม่ถึง ๕ รูปมีปัญหาเกี่ยวกับกฐินโดยตรง คือรับกฐินไม่ได้ แต่ไม่ควรมองว่ามีปัญหาแค่นี้ ควรมองเลยไปถึงปัญหาในระดับโครงสร้างของสังคมด้วย

ตามธรรมชาติดั้งเดิมของสังคมพุทธ ชาวบ้านสร้างวัดให้พระอยู่ด้วยความมุ่งหมายอย่างน้อย ๒ อย่าง คือ

(๑) อำนวยความสะดวกให้ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยได้เต็มกำลัง

(๒) เป็นแหล่งที่ชาวบ้านเองจะได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญต่างๆ ได้สะดวก

ปัญหาของชาวพุทธชาวบ้านสมัยก่อนก็คือ มีศรัทธาอยากทำบุญ แต่ไม่มีพระ หรือบางทีเจอพระ แต่เผอิญยังไม่พร้อมที่จะทำบุญ แต่เมื่อสร้างวัดขึ้นได้แล้ว จะทำบุญเวลาไหนก็สะดวกทุกประการ

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่า พระเป็นฝ่ายสร้างวัดเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็คงได้หลักยืนยันตรงกันว่า สังคม-คือชาวบ้านและชาววัด-จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลวัด

ทางด้านชาวบ้าน : สมัยก่อนถ้าวัดไหนมีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ชาวบ้านจะเดือดร้อนใจมาก เหตุผลเดียวที่เดือดร้อนก็คือ-เพราะจะทำให้รับกฐินไม่ได้

เมื่อยกเรื่องกฐินเป็นเหตุเช่นนี้ ก็ควรจะได้หลักการขึ้นมาว่า ชาวบ้านประจำวัดนั้นๆ นั่นแหละที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องทอดกฐิน นั่นคือ จะมีเจ้าภาพมาจากไหนหรือไม่มี ก็ไม่เป็นปัญหา มีเจ้าภาพมาจากที่อื่น ก็ให้เจ้าภาพทอดไป ชาวบ้านก็เป็นฝ่ายต้อนรับตามประเพณีอันดีงาม หากไม่มีเจ้าภาพมาจากที่อื่น ก็ชาวบ้านนั่นเองร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

สมัยนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ ก็ยิ่งสะดวกมาก บรรดาเทศบาล หรือ อปต.ทั้งหลายนั่นเองที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการทอดกฐินของวัดในพื้นที่

ถ้าทำได้ดังนี้ ก็จะไม่มีกรณีทอดกฐินหมู่ รวมทั้งกฐินตกค้าง เพราะแต่ละวัดก็จะมองเห็นตัวเจ้าภาพชัดเจนอยู่แล้วตามโครงสร้างของสังคม

ทางด้านชาววัด : คณะสงฆ์ไทยมีองค์กรปกครองมั่นคงอยู่แล้ว นั่นคือเจ้าคณะต่างๆ ไปจนถึงมหาเถรสมาคม เจ้าคณะผู้ปกครองควรจะต้องรู้ดีว่าวัดไหนมีพระอยู่ประจำวัดเท่าไร องค์กรปกครองสงฆ์ควรมีนโยบายที่ชัดเจนและเข้มแข็งจริงจังว่า วัดทุกแห่งในประเทศเมื่อเข้าพรรษาจะต้องมีพระอยู่จำพรรษาไม่น้อยกว่า ๕ รูป นั่นคือต้องเตรียมหาแนวทางไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะได้พระมาจากไหน

วิธีง่ายๆ ก็อย่างเช่น –

๑ เฉลี่ยจากวัดที่มีพระมาก

๒ มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เคยมีหลักการว่าพระที่สอบผ่านปีสุดท้ายแล้ว ก่อนรับปริญญาต้องไปปฏิบัติศาสนกิจตามวัดต่างๆ เป็นเวลา ๑ ปีจึงจะมีสิทธิ์รับปริญญา

ถ้าหลักการนี้ยังมีอยู่ ก็สามารถปรับใช้กับนโยบาย-แต่ละวัดต้องมีพระ ๕ รูป-ได้เป็นอย่างดี

นี่เพียงยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คิดง่ายๆ

แต่เมื่อทำในระดับนโยบาย ก็จะต้องมีวิธีอื่นๆ ที่ชัดเจน แน่นอน มั่นคง เป็นไปได้ ปฏิบัติได้ ไม่ใช่คิดง่ายๆ ทำกันเองตามสมัครใจ แบบนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืน

ถ้ามีนโยบายและทำได้ ปัญหาเรื่องรับกฐินไม่ได้ หรือปัญหาที่ถกเถียงกันว่า-นิมนต์พระต่างวัดมาให้ครบ ๕ รูปเพื่อรับกฐินได้หรือไม่-ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นการแก้ปัญหาเพื่อรักษาพระธรรมวินัย ไม่ใช่เบี่ยงเบนพระธรรมวินัยให้คล้อยตามปัญหา

………

แต่ปัญหาที่เป็นภูเขาหิมาลัยขวางหน้าอยู่ก็คือ ผู้บริหารการคณะสงฆ์ท่านไม่คิดจะมีนโยบายอะไรทั้งสิ้น

วัดไหนจะมีพระมากน้อยแค่ไหน คงปล่อยไปตามธรรมชาติ

และใครวัดไหนจะเบี่ยงเบนพระธรรมวินัยอย่างไรท่านก็ปล่อยไปตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน

หน่วยงานของทางราชการ เช่น กรมการศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งควรจะเป็นหน่วยนำในการคิดแก้ปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

คือ ทำเฉพาะงานประจำและงานที่นายสั่งมาเท่านั้น

งานอะไรที่นายไม่ได้สั่ง แม้จะมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรทำ ทำได้ ทำแล้วแก้ปัญหาได้จริงๆ

ก็ไม่ทำ

และไม่คิดที่จะเสนอแนะนายให้สั่ง

(หน่วยราชการไทยทั้งหมดมีสภาพแบบเดียวกันนี้)

ก็จึงต้องสรุปแบบเดิมที่เคยกล่าวเสมอ นั่นคือ ใครมีความสามารถจะทำอะไรได้ ก็ขอให้ทำไปเถิด อย่าไปหวังว่าผู้รับผิดชอบท่านจะคิดทำอะไร

ช่วยกันศึกษาเรียนรู้ให้รู้ทันปัญหา และโดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาขอให้ศึกษาและยึดพระธรรมวินัยไว้ให้มั่นคง ประกอบด้วยวัฒนธรรม ประเพณี จารีตของไทย ในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย

วิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของพระศาสนาให้ช้าลงได้บ้าง-อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตวัยของเราแต่ละคนที่ยังมีสติสัมปชัญญะมองเห็นความถูกผิดแล้วรู้สึกได้ตามควรแก่วิสัยสามารถ

………

ผมเขียนเรื่องกฐินมาจนถึงตอนนี้ ญาติมิตรท่านใดเห็นว่ามีประเด็นใดที่ยังไม่ชัด หรือมีประเด็นใดที่ผมพูดไว้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอได้โปรดช่วยแก้ไขและบูรณาการให้สมบูรณ์ เพื่อความถูกต้องดีงามต่อไปด้วยเถิด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ กันยายน ๒๕๖๐

๑๐:๔๖

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *