บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง กฐินมาแล้ว

กฐินมาแล้ว (๑)

———–

ใกล้จะออกพรรษา ใกล้จะถึงหน้ากฐิน

หาความรู้เรื่องกฐินกันไว้ก่อน

———–

ตอนที่ ๑ : กฐินสามัคคี

———–

ใครจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดไหน มีธรรมเนียมอยู่ว่าต้องไปจองไว้ก่อน และประกาศให้คนทั้งหลายรับรู้

จะทำบุญถวายอะไรๆ จะเลี้ยงพระกันสักกี่คณะ จะถวายสังฆทานกันสักกี่ราย จะทอดผ้าป่ากันสักกี่กอง ก็ทำได้ทันที ไม่ต้องจอง

แต่ทำไมจะทอดกฐินจึงต้องจองก่อน ?

เหตุผลก็คือ ทำบุญอย่างอื่นจะทำกันสักกี่รายก็ไม่มีข้อจำกัด ใครมาก่อนก็ทำก่อน ใครมาทีหลังก็ทำได้อีก จึงไม่จำเป็นจะต้องจอง

แต่กฐินเป็นพุทธบัญญัติ กำหนดไว้ว่าวัดหนึ่งปีหนึ่งทอดได้รายเดียว

เมื่อรายหนึ่งทอดไปแล้ว สงฆ์วัดนั้นจะรับกฐินอีกไม่ได้

ถ้าทอดแล้วทอดอีกได้เหมือนกับทำบุญอย่างอื่นๆ จะต้องจองก่อนทำไม

นี่คือเหตุผลที่เป็นข้อยืนยันว่า ทอดกฐิน วัดหนึ่งปีหนึ่งทอดได้รายเดียวเท่านั้น

ทอดมากกว่าหนึ่งราย ผิดพุทธบัญญัติ ไม่เป็นกฐิน

หลักฐานอีกข้อหนึ่งก็คือ “กฐินสามัคคี”

“กฐินสามัคคี” คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

กฐินสามัคคี ไม่ได้หมายความว่า มีคนหนึ่งคิดจะทอดกฐิน แล้วก็เลยไปเที่ยวชักชวนญาติมิตรมาสามัคคีร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

คงมีหลายท่านที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอย่างนี้

เข้าใจอย่างนี้ ผิดครับ

และเรากำลังช่วยกันทำให้ผิดกลายเป็นถูก เพราะไม่ศึกษาให้เข้าใจ

ใครจองกฐินแล้วไปชักชวนญาติมิตรเป็นสายๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน อย่างนั้นนับว่าเป็นความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน ควรอนุโมทนา เพราะก็ยังคงเป็นเจ้าภาพเดียวตามหลักการของพระธรรมวินัย

แต่แบบนั้นไม่ใช่ “กฐินสามัคคี” ตามความหมายเดิม

ถือว่าเป็นความสามัคคีภายในคณะหนึ่งเดียวของตนเท่านั้น

กฐินสามัคคีตามความหมายที่แท้จริงมีสาเหตุมาจากมีคนต้องการจะทอดกฐินที่วัดเดียวกันหลายราย

หมายความว่า แต่ละรายสามารถทอดไปรายเดียวได้สบายๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาเป็นเจ้าภาพร่วม

แต่เห็นใจรายอื่นๆ ที่มีศรัทธาต้องการจะทอดเหมือนกัน

เพราะเมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ ก็หมดสิทธิ์ ทอดอีกไม่ได้

ทุกรายจึงพร้อมใจกันรวมตัวเป็นเจ้าภาพร่วมกัน กลายเป็นเจ้าภาพรายเดียว

นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงของคำว่า “กฐินสามัคคี”

เวลานี้เกิดภาพ “กฐินสามัคคี” ที่วิปริตผิดพลาดอย่างยิ่ง นั่นก็คือ ถึงวันทอดกฐินก็มีเจ้าภาพกฐินเป็นสิบเป็นร้อยคณะจัดเครื่องกฐินของแต่ละคณะขึ้นไปตั้งชุมนุมกันในศาลา พอได้เวลาก็ทำพิธีทอด แต่ละคณะก็ยกเครื่องกฐินของตนเข้าไปถวายพระ

แล้วก็เข้าใจกันว่านี่คือ “กฐินสามัคคี”

นี่คือการกระทำที่ผิดพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง

ขอย้ำว่า กฐินที่จะทอดวัดใดวัดหนึ่งมีได้คณะเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิบเป็นร้อยคณะ

ถ้ามากับเป็นสิบเป็นร้อยคณะ ต้องรวมตัวกันให้เป็นคณะเดียว มีผ้ากฐินชุดเดียวเท่านั้น ไม่ใช่มีเป็นสิบเป็นร้อยไตรแล้วก็บอกกันว่าทุกไตรเป็นผ้ากฐิน

การรวมตัวกันได้ให้เหลือหนึ่งเดียวนั่นแหละคือความหมายที่ถูกต้องของ “กฐินสามัคคี”

การที่ยังแยกเป็นคณะๆ เข้าไปถวายนั่นเองเป็นการฟ้องอยู่แล้วในตัวว่า ยังสามัคคีกันไม่ได้

แบบนั้นจึงไม่ใช่ “กฐินสามัคคี”

เท่าที่เห็นมาในระยะหลังๆ นี่หลายวัดจัดกฐินสามัคคีแบบผิดๆ อย่างที่ว่ามานี้ ปีนี้ก็คงจะมีทำกันอย่างนั้นอีก อาศัยความไม่รู้ไม่เข้าใจของประชาชนเป็นที่ตั้ง

เรื่องแบบนี้คณะสงฆ์ควรสั่งให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้วัดต่างๆ เหยียบย่ำพระธรรมวินัยกันแบบไม่รู้ไม่ชี้

แต่วิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้เลยตั้งแต่บัดนี้ก็คือ ศึกษาให้รู้ทัน

ถ้าพระท่านไม่ยอมศึกษาเรื่องของท่านเองให้เข้าใจแล้วปฏิบัติให้ถูก เราก็ต้องช่วยท่าน คือช่วยกันศึกษาให้เข้าใจ

เมื่อเข้าใจแล้วก็จะได้ไม่ไปสนับสนุนท่านแบบผิดๆ

การไม่ไปสนับสนุนแบบผิดๆ นั่นเองเป็นการช่วยสนับสนุนให้พระไม่ปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย

อย่าไปร่วม และอย่าไปอนุโมทนากับการทอดกฐินสามัคคีวิปริตแบบนั้นครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ กันยายน ๒๕๕๘

————

กฐิน, กฐิน

 [กะถิน, กะถินนะ-] น. ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร; คํา กฐิน นี้ ใช้ประกอบกับคําอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน ในฤดูกาลเรียกว่า กฐินกาล [กะถินนะกาน] คือระยะเวลาตั้งแต่แรมคํ่าหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกเป็นสามัญว่า เทศกาลกฐิน [เทดสะกานกะถิน] ฤดูกฐิน หรือ หน้ากฐิน ก็มี ก่อนจะถึงกฐินกาลผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใดจะต้องไปแจ้งความจํานงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจํานงล่วงหน้านี้ เรียกว่า จองกฐิน การทําพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า ทอดกฐิน พระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินจากสงฆ์โดยวิธีที่กําหนดไว้ในพระวินัย เรียกว่า ผู้กรานกฐิน ผู้ครองกฐิน หรือ องค์ครองกฐิน เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสําหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน [บอริวานกะถิน] เมื่อนําผ้ากฐินไปทอดโดยมีขบวนแห่ เรียกว่า แห่กฐิน ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน การที่ภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมอยู่ในพิธีอนุโมทนาต่อองค์ครองกฐินตามพระวินัย หรือการที่บุคคลแสดงความยินดีในการที่เขาทอดกฐิน เรียกว่า อนุโมทนากฐิน [อะนุโมทะนากะถิน] ภิกษุสงฆ์ผู้ได้อนุโมทนากฐินแล้วนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็น ผู้กรานกฐิน ด้วย ผลของการทอดกฐิน เรียกว่า อานิสงส์กฐิน, ในทางวินัยสิทธิพิเศษ ๕ ประการซึ่งมีแก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ก็เรียกว่า อานิสงส์กฐิน เช่นกัน. (ดู กรานกฐิน และ จุลกฐิน).

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *