สวางคนิวาส (บาลีวันละคำ 1,918)
สวางคนิวาส
อ่านว่า สะ-วาง-คะ-นิ-วาด
แยกศัพท์เป็น สวางค + นิวาส
(๑) “สวางค”
บาลีเขียน “สฺวางค” (มีจุดใต้ ส อ่านว่า สฺ-วาง-คะ ออกเสียง สฺ- สั้น-เบา คล้ายคำว่า ซวง-) รูปคำเดิมมาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + องฺค
(ก) “องฺค” (อัง-คะ) รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)
องฺค ใช้ในภาษาไทยว่า “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.
(2) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.
(3) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.
(4) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.
(ข) สุ + องฺค แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) (สุ > โส > สฺว), “ทีฆะสระหลัง” คือ อะ ที่ อ-(งฺค) เป็น อา (องฺค > อางฺค)
: สุ > โส > สฺว + องฺคฺ = สฺวงฺค > สฺวางฺคฺ เขียนแบบไทยเป็น “สวางค” แปลว่า ร่างกายที่ดี, ร่างกายที่ได้รับการบำรุงเป็นอย่างดี, ร่างกายที่สมส่วนสวยงาม
(๒) “นิวาส”
บาลีอ่านว่า นิ-วา-สะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง. ไม่มี, ออก) + วสฺ (ธาตุ = อยู่, อาศัย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วสฺ > วาส)
: นิ + วสฺ = นิวส + ณ = นิวสณ > นิวส > นิวาส แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่อาศัยอยู่” หมายถึง การหยุด, การอาศัย, ที่พักผ่อน, ที่อาศัย; การอยู่, การให้ที่พักพิง (stopping, dwelling, resting-place, abode; living, sheltering)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิวาส : (คำแบบ) (คำนาม) ที่อยู่อาศัย, ที่พัก. (ป.).”
สฺวางฺค + นิวาส = สฺวางฺคนิวาส แปลว่า “ที่พักเพื่อการทำร่างกายให้ดีขึ้น” คือ ที่พักฟื้นเพื่อให้สบายตัวและมีสุขภาพแข็งแรง
…………..
ขยายความ :
“สวางคนิวาส” เป็นชื่อสถานพักฟื้นในอดีตที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
โดยมูลนิธิอื้อจือเหลียงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินและสถานพักฟื้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เพื่อพระราชทานให้แก่สภากาชาดไทยต่อไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถานพักฟื้นนี้ว่า “สวางคนิวาส”
“สวางคนิวาส” ควรอ่านว่า สะ-วาง-คะ-นิ-วาด ไม่ใช่ สะ-หฺวาง-คะ-นิ-วาด
พจนานุกรมฯ มีคำว่า “สวาง” อ่านว่า สะ-หฺวาง แปลว่า ผี, สาง (เข้าใจว่าแผลงมาจาก “สาง” นั่นเอง)
ถ้าอ่าน “สวางคนิวาส” ว่า สะ-หฺวาง-คะ-นิ-วาด อาจถูกเปลี่ยนความหมายเป็นอย่างอื่นที่ไม่พึงปรารถนาได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รักษาตัวให้ปลอดโรคภัย อยู่ไปได้ร้อยปี
: รักษาใจให้ปลอดราคี อยู่เป็นอมตะนิรันดร์กาล
——————–
(ตามคำขอของ Khun Kim)
#บาลีวันละคำ (1,918)
9-9-60