บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

………………………………….

บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

………………………………….

“กฐินสามัคคี” – เครื่องบ่งชี้ถึงการไม่ศึกษา (๐๑๐)

—————————-

ตอนนี้ใกล้จะออกพรรษา เราท่านคงจะได้เห็นและได้ยินคำว่า “กฐินสามัคคี” กันบ่อยขึ้น

โปรดทราบว่า คำว่า “กฐินสามัคคี” เป็นคำที่ใช้กันผิดครับ

กฐินที่ทอดกันทุกวันนี้เป็น “กฐิน” เฉยๆ ธรรมดาๆ

ไม่ใช่ “กฐินสามัคคี” อย่างที่เรียกกันผิดๆ

จะรู้ว่าคำว่า “กฐินสามัคคี” ใช้กันผิด ก็ต้องรู้หลักการหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกฐิน

ซึ่งก็น่าประหลาดที่คนส่วนมากไม่ค่อยรู้

หลักการหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกฐินที่ชาวบ้านควรรู้ก็คือ

– มีเจ้าภาพได้รายเดียว

– ผ้ากฐินมีผืนเดียว

– พระสงฆ์รับกฐินได้ครั้งเดียว

“มีเจ้าภาพได้รายเดียว” หมายความว่า จะเป็นบุคคล คณะบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใดๆ มาทอด ก็ทอดได้รายเดียว จะแบ่งกันเป็นคณะๆ คณะใครคณะมัน แยกกันเป็นเจ้าภาพมาทอดวัดเดียวกัน แบบนี้ไม่เป็นกฐิน

“ผ้ากฐินมีผืนเดียว” หมายความว่า เมื่อพระสงฆ์รับผ้าของเจ้าภาพรายเดียวแล้ว ก็ใช้ผ้าผืนเดียว จะเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิ ใช้ผืนใดผืนหนึ่งเพียงผืนเดียวเท่านั้นเป็นผ้ากฐิน ใครหรือเจ้าภาพคนไหนจะเอาผ้าอะไรมาถวายเป็นผ้ากฐินผืนที่ ๒ ผืนที่ ๓ อีก ก็ไม่ใช่ผ้ากฐินอีกแล้ว

“พระสงฆ์รับกฐินได้ครั้งเดียว” หมายความว่า แต่ละวัดรับกฐินได้ปีละครั้งเดียว

“ครั้งเดียว” ในที่นี้หมายความว่า ทันทีที่รับผ้าของเจ้าภาพรายหนึ่งแล้ว จะรับผ้าของเจ้าภาพรายอื่นอีกไม่ได้

…………………

อุปมาให้เห็นภาพ –

พระสงฆ์เหมือนเจ้าสาว

เจ้าภาพเหมือนเจ้าบ่าว

ผ้ากฐินเหมือนสินสอดทองหมั้น

เจ้าสาวรับสินสอดทองหมั้นของเจ้าบ่าวรายหนึ่งแล้ว ก็จบแค่นั้น

จะไปรับของรายอื่นอีกไม่ได้ ฉันใด

พระสงฆ์รับผ้ากฐินของเจ้าภาพรายหนึ่งแล้ว ก็จบแค่นั้น

จะไปรับของเจ้าภาพรายที่ ๒ ที่ ๓ อีกไม่ได้ ฉันนั้น

…………………

แล้ว “กฐินสามัคคี” มายังไง?

ก็มาตามหลักการหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกฐินนั่นเอง

บุญอื่นๆ เช่นถวายสังฆทาน จะถวายกันวันละกี่คนกี่คณะก็ได้

คนนี้ถวายแล้ว คนโน้นมาทีหลังก็ถวายได้อีก ไม่มีจำกัด

แต่บุญกฐินทำแบบนั้นไม่ได้

ใครมาทอดก็แล้วกันไป

ใครมาทีหลัง จะมาทอดซ้ำอีกไม่ได้

เพราะอย่างนี้จึงเกิดมีธรรมเนียม “จองกฐิน”

“จองกฐิน” ก็คือบอกกล่าวให้คนทั้งหลายรู้ล่วงหน้าว่า ฉันจะขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดนี้

คนที่อยากเป็นเจ้าภาพทอดกฐินบ้างจะได้ไปหาทอดวัดอื่น ไม่ต้องมายุ่งกับวัดนี้ เพราะวัดนี้มีคนจองแล้ว และเจ้าภาพมีได้รายเดียว

การจองกฐินนี้ไม่จำกัดสิทธิ์ของใคร ใครมีศรัทธาก็มีสิทธิ์จองได้ทั้งนั้น

และเมื่อทางวัดรับจองกฐินของเจ้าภาพรายใดรายหนึ่งแล้ว ก็จบแค่นั้น จะรับจองรายอื่นอีกไม่ได้

เหตุเกิดตรงที่มีผู้มาขอจองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดเดียวกันหลายราย และมาจองในเวลาเดียวกัน ต่างคนต่างยืนยันว่าฉันต้องได้เป็นเจ้าภาพ

สมมุติว่ามากัน ๓ ราย

แย่งกันเป็นเจ้าภาพ

รายหนึ่ง ได้ทอด

อีก ๒ ราย อด

นี่คือข้อขัดข้องหรือข้อขัดแย้ง

วิธีที่จะได้ทอดด้วยกันทั้งหมดก็คือ ทั้ง ๓ รายรวมตัวกันเป็นรายเดียว แล้วเข้าไปจองกฐินกับทางวัด

ต่างคนต่างทอด ทอดได้รายเดียว

สามัคคีกันทอด ทอดได้หมดทุกราย

แต่ข้อสำคัญอยู่ที่-ต้องรวมตัวกันให้เป็นรายเดียวก่อน

การที่ทุกรายรวมตัวกันเป็นรายเดียวนี่แหละคือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฐินสามัคคี”

“กฐินสามัคคี” ต้องเกิดจากการที่-ตอนแรกแย่งกันทอด ไม่มีใครยอมใคร

ตอนหลังเปลี่ยนใจยอมให้รายอื่นมาร่วมด้วย โดยรวมกันเป็นเจ้าภาพเดียวตามหลักการหรือกฎเกณฑ์ของกฐิน

“กฐินสามัคคี” คือมีคนจองหลายราย แล้วตกลงใจรวมกันเป็นรายเดียว

จองรายเดียว ไม่ได้แย่งกับใคร จะเรียกว่า “กฐินสามัคคี” ไม่ถูก

การที่จองรายเดียว

แล้วไปบอกบุญในหมู่ญาติมิตร

แล้วเข้าใจกันว่า ทำแบบนั้นคือ “สามัคคี”

แล้วเลยเรียกกันว่า “กฐินสามัคคี”

นั่นคือความเข้าใจผิด

…………………

แต่เวลานี้ คำว่า “กฐินสามัคคี” กู่ไม่กลับแล้ว

พูดกันผิด ใช้กันผิด จนกลายเป็นถูกไปแล้ว

มีคนคอยช่วยแต่งคำอธิบายให้ฟังแล้วเห็นเป็นถูกซ้ำเข้าไปอีก

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะให้เลิกใช้คำนั้น หรือจะมาคัดค้านอะไร

เพียงแต่ขอให้ช่วยกันรู้ทัน ว่าอะไรเป็นอะไร

…………………

เรื่องความหมายของถ้อยคำภาษาที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ มีท่านจำพวกหนึ่งคอยบอกเราว่า-มันเป็นธรรมชาติธรรมดาของภาษาที่ยัง “เป็น” อยู่ คือยังมีคนใช้สื่อสารกันอยู่ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงผันแปรเคลื่อนที่ไปเป็นธรรมดา ภาษาไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ

แถมเข้าให้ด้วยว่า-มีแต่ภาษาบาลีเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นภาษาที่ “ตาย” แล้ว

ผมไม่ประสงค์จะรับโต้เถียงอะไร เพียงแต่ขอให้คิดถึงความเป็นจริงอีกอย่างหนึ่งควบคู่ไปด้วย นั่นคือ –

ภาษามันเปลี่ยนแปลงเองไม่ได้

คน-เป็นผู้ทำให้ภาษาเปลี่ยน

ไม่ควรเข้าใจไปว่า-เมื่ออ้างว่าภาษามันต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาเช่นนั้นแล้ว ก็เลยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

นึกอยากจะใช้อย่างไร พูดอย่างไร ก็ใช้ไปพูดไปตามสบาย ผิดถูกอย่างไรไม่รับรู้

ภาษาจะเปลี่ยนไปในทางงาม หรือในทางทราม

ก็คน-ก็คือพวกเรานี่แหละเป็นผู้ทำ

ภาษามันเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้

…………………

อนึ่ง ขอเรียนว่า บุญกฐินเป็นบุญที่เกิดจากพุทธานุญาต

มีเงื่อนไข มีกฎเกณฑ์ มีหลักการ ที่กำหนดไว้ในพระธรรมวินัย

จะทำอะไรกับเรื่องกฐิน โปรดศึกษาพระธรรมวินัยให้ชัดเจน

อย่าคิดเอาเอง

อย่าทำเอาเอง

อย่าทำตามๆ กันไป

ที่นั่นเขาทำแบบนี้

ที่โน่นเขาก็ทำอย่างนี้

อ้างแบบนี้กันมาก

แล้วพระธรรมวินัยกำหนดให้ทำอย่างไรล่ะ

ไม่มีใครอ้าง

ขอร้องเถอะ

ศึกษาหรือปรึกษาพระธรรมวินัยกันบ้างนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒

๑๘:๕๘

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *