บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

โลหิตุปบาท (๑)

————–

เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินบนยอดเขาคิชฌกูฏหมายสังหารพระพุทธองค์ มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก

แต่เรื่องตอนที่หมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์จากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก

แต่ไปมีรายละเอียดอยู่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา

ในพระไตรปิฎก เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินมีบันทึกไว้ที่คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก ตอนสังฆเภทขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๓๗๒

ข้อความในพระวินัยปิฎกเป็นดั่งนี้

………………….

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏบรรพต ครั้งนั้นพระเทวทัตขึ้นสู่คิชฌกูฏบรรพตแล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ด้วยหมายใจว่า จักปลงพระชนม์พระสมณโคดมด้วยศิลานี้

ยอดบรรพตสองยอดน้อมมารับศิลานั้นไว้

สะเก็ดกระเด็นจากศิลานั้นต้องพระบาทพระผู้มีพระภาค ทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นขณะนั้น

พระผู้มีพระภาคทรงแหงนขึ้นไป ได้ตรัสกะพระเทวทัตว่า

……………

พหุํ  ตยา  โมฆปุริส  อปุญฺญํ  ปสุตํ,

ยํ  ตฺวํ  ทุฏฺฐจิตฺโต  วธกจิตฺโต  

ตถาคตสฺส  รุหิรํ  อุปฺปาเทสิ.

ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอสั่งสมบาปมิใช่บุญไว้มากนัก

เพราะมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า

ยังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น

……………

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นอนันตริยกรรมข้อที่ ๑ ที่เทวทัตสั่งสมแล้ว เพราะเธอมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า ทำโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น

……………

เรื่องต่อจากนี้ก็คือ พวกภิกษุได้พากันมาเดินจงกรมบ้าง สวดสาธยายพระธรรมบ้าง รอบๆ บริเวณที่พระพุทธองค์ประทับ เพื่อเป็นการระวังป้องกันภัย

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย-ตามสำนวนในพระไตรปิฎกว่า

……………

อฏฺฐานเมตํ  ภิกฺขเว  อนวกาโส,  โย  ปรุปกฺกเมน  ตถาคตํ  ชีวิตา  โวโรเปยฺย,  น  ปรุปกฺกเมน  ภิกฺขเว  ตถาคตา  ปรินิพฺพายนฺติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ผู้ใดใครผู้อื่นจะปลงชีวิตตถาคตนั้นมิใช่ฐานะมิใช่โอกาส พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น

……………

พูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า-ใครจะพยายามฆ่าพระพุทธเจ้านั้นไม่มีทางทำได้สำเร็จ

ลงมือได้ พยายามได้

แต่ลงท้ายจะทำไม่สำเร็จ

ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ แต่กับพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะเป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด เพราะเป็นหลักธรรมดา

ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายกลับไปอยู่ตามที่ของตนๆ ตามปกติเถิด พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ไม่ต้องให้ใครมาคอยระวังป้องกันภัยให้

ความในพระไตรปิฎกที่บรรยายเหตุการณ์พระเทวทัตกลิ้งหินมีเพียงเท่านี้

……………

มีพระสูตรอีก ๒ แห่งในคัมภีร์สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒ และข้อ ๔๕๒ ชื่อ สกลิกสูตร ชื่อเดียวกันและอยู่ในหมวดสคาถวรรคด้วยกันทั้ง ๒ สูตร เป็นเรื่องว่าด้วยพระบาทของพระพุทธองค์ถูกสะเก็ดหินกระทบได้รับบาดเจ็บสาหัส ในข้อ ๑๒๒ กล่าวถึงเหล่าเทวดาพากันมาเฝ้า ข้อ ๔๕๒ กล่าวถึงมารมาเฝ้า

ในตัวพระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงว่าทำไมพระบาทของพระพุทธองค์จึงถูกสะเก็ดหินกระทบ และไม่ได้เอ่ยถึงการรักษาพยาบาล

แต่ในอรรถกถาของสูตรแรก (คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๗-๑๐๘) ขยายความไว้ว่า เป็นเหตุการณ์เดียวกับที่พระเทวทัตกลิ้งหินจากยอดเขาคิชฌกูฏนั่นเอง

แต่อรรถกถาฉบับนี้ก็ไม่ได้เอ่ยถึงการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด แต่ก็บอกรายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดเหตุ พวกภิกษุได้พาพระพุทธองค์เสด็จไปพักที่สวนมัททกุจฉิ

ถึงตอนนี้ มีชื่อสถานที่ ๓ แห่งที่ควรรู้จัก คือเขาคิชฌกูฏ สวนมัททกุจฉิ และชีวกัมพวัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ เมษายน ๒๕๖๓

๑๕:๑๖

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

———–

ภาพประกอบ: จาก google

เรื่องที่หมอชีวกมารักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์มีเล่าไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค๔ ชีวกวัตถุ – เรื่องหมอชีวก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

……………

        ความพิสดารว่า   ในสมัยหนึ่ง   พระเทวทัตเป็นผู้ร่วมคิดกับ

พระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ  มีจิตคิดร้าย  คิดว่า  ” เราจักปลง-

พระชนม์พระศาสดา ”  จึงกลิ้งหินลง.   ยอดเขา ๒ ยอดรับหินนั้นไว้.

สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้น  กระเด็นไป  กระทบพระบาทของพระผู้มี

พระภาค  ยังพระโลหิตให้ห้อแล้ว.  เวทนากล้าเป็นไปแล้ว.

                        [ หมอชีวกทำการพยาบาลแผล ]

        ภิกษุทั้งหลายนำพระศาสดาไปยังสวนมัททกุจฉิ.    พระศาสดา

มีพระประสงค์จะเสด็จ    แม้จากสวนมัททกุจฉินั้นไปยังสวนมะม่วงของ

หมอชีวก   จึงตรัสว่า   ” เธอทั้งหลาย   จงนำเราไปในสวนมะม่วง

*  พระมหาอู  ป.ธ.  ๗  วัดบวรนิเวศวิหาร  แปล.

ประโยค๒ – พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๔ – หน้าที่ 82

ของหมอชีวกนั้น. ”    พวกภิกษุได้พาพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังสวน

มะม่วงของหมอชีวกแล้ว.    หมอชีวกทราบเรื่องนั้น   ไปสู่สำนัก

พระศาสดา   ถวายเภสัชขนานที่ชะงัด   เพื่อประโยชน์กำชับแผล

พันแผลเสร็จแล้ว   ได้กราบทูลคำนี้กะพระศาสดาว่า   ” พระเจ้าข้า

ข้าพระองค์ประกอบเภสัชแก่มนุษย์ผู้หนึ่งภายในพระนคร,   ข้าพระองค์

จักไปยังสำนักของมนุษย์นั้นแล้ว  จัก (กลับ) มาเฝ้า,   เภสัชนี้จงตั้ง

อยู่โดยนิยามที่ข้าพระองค์พันไว้นั่นแหละ    จนกว่าข้าพระองค์กลับ

มาเฝ้า. “

        เขาไปทำกิจที่ควรทำแก่บุรุษนั้นแล้ว   กลับมาในเวลาปิดประตู

จึงไม่ทันประตู.  ทีนั้น เขาได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า   ” แย่จริง  เรา

ทำกรรมหนักเสียแล้ว,  ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัด  พันแผลที่พระบาท

ของพระตถาคตเจ้า   ดุจคนสามัญ๑;   เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น,

เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้,   ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มี

พระภาคเจ้าจักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง. “

                             [ แผลของพระศาสดาหายสนิท ]

        ขณะนั้น  พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า  รับสั่งว่า

” อานนท์  หมอชีวกมาในวลาเย็นไม่ทันประตู,  ก็เขาคิดว่า  ‘ เวลานี้

เป็นเวลาแก้แผล, ‘    เธอจงแก้แผลนั้น. ”    พระเถระแก้แล้ว.   แผล

หายสนิท  ดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้.

๑.  อญฺตรสฺส  แปลว่า  คนใดคนหนึ่ง.

ประโยค๒ – พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๔ – หน้าที่ 83

                       [ พระอรหันต์ไม่มีความเร่าร้อนใจ ]

        หมอชีวกมายังสำนักพระศาสดาโดยเร็ว   ภายในอรุณนั่นแล

ทูลถามว่า  ” พระเจ้าข้า  ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์

หรือไม่ ? ”   พระศาสดาตรัสว่า  ” ชีวก  ความเร่าร้อนทั้งปวงของ

ตถาคตสงบราบคาบแล้ว  ที่ควงไม้โพธิพฤกษ์นั่นแล ”  ดังนี้แล้ว  เมื่อจะ

ทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม   จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

             ” ความเร่าร้อน   ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้มีทางไกล

             อันถึงแล้ว   หาความเศร้าโศกมิได้   หลุดพ้น

             แล้วในธรรมทั้งปวง    ผู้ละกิเลสเครื่องร้อยรัด

             ทั้งปวงได้แล้ว. “

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *