บทความเรื่อง ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด
ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (๒)
——————-
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๓ เรื่องที่ ๓๘ (ปาฏิกาชีวกวตฺถุ) เล่าไว้ว่า –
………………..
สตรีมีฐานะคนหนึ่งในเมืองสาวัตถีอุปถัมภ์บำรุงอาชีวก (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) คนหนึ่งเหมือนเป็นลูก ต่อมาเธอได้ยินเพื่อนบ้านสรรเสริญคุณของพระพุทธองค์ อยากจะไปเฝ้าบ้าง แต่อาชีวกห้ามไว้ เมื่อไปเฝ้าไม่ได้จึงให้ลูกชายไปทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้าน อาชีวกพยายามทัดทาน แต่ไม่สำเร็จ
วันที่พระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้าน อาชีวกก็มาด้วย แต่เจ้าของบ้านจัดให้นั่งคนละห้องกัน พระพุทธองค์เสวยภัตตาหารแล้วก็ทรงแสดงธรรมโปรดสตรีผู้นั้น เธอฟังธรรมไปพลางเปล่งเสียงสาธุไปพลาง
อาชีวกได้ยินเช่นนั้น ก็ลุกมาด่าว่าเธอด้วยถ้อยคำหยาบคาย แล้วออกจากบ้านไป
สตรีผู้นั้นรู้สึกอับอาย ฟังธรรมไม่รู้เรื่องเพราะใจไปคิดถึงคำด่า พระพุทธองค์จึงตรัสให้สติว่า –
………………..
เอวรูปสฺส วิสภาคชนสฺส กถิตํ กถํ นาม อาวชฺชิตุํ น วฏฺฏติ, เอวรูปํ อสมนฺนาหริตฺวา อตฺตโน กตากตเมว โอโลเกตุํ วฏฺฏติ.
คนไม่ถูกกันแบบนี้
ไม่ควรไปพะวงถึงถ้อยคำที่เขาพูด
คนแบบนั้นคำแบบนั้นไม่ควรใส่ใจ
เราเองควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร
ตรวจสอบดูเท่านี้พอ
………………..
แล้วตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า –
น ปเรสํ วิโลมานิ
น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย
กตานิ อกตานิ จ.
แปลเป็นไทยว่า
ไม่ควรใส่ใจคำด่าว่าของคนอื่น
ไม่ควรแส่หาว่าใครทำอะไรไม่ทำอะไร
ตนเองนั่นแหละที่ควรพิจารณา
ว่าทำอะไรไปบ้างและยังไม่ได้ทำอะไร
………………..
หมายเหตุ: ภาษาที่แปลบาลีเป็นไทยนี้เป็นสำนวนเฉพาะตัว ถ้าครูบาอาจารย์ท่านได้มาอ่านเข้า ผมคงโดนดุ เหมือนที่เคยโดนสมัยเรียนบาลีว่า – มหาย้อยแปลหนังสือโลดโผนจัง
………………..
จะเห็นได้ว่า พุทธภาษิตบทนี้สอนวิธีทำใจเมื่อโดนด่า
คือไม่ให้ใส่ใจคำด่า และไม่ให้แส่คิดพล่านไปว่าคนด่ามันทำอะไรหรือไม่ทำอะไร
มันทำอะไรหรือมันไม่ทำอะไรก็ช่างหัวมันปะไร
จะไปเสียเวลาเสียการเสียงานตามดูมันทำไม
แต่ให้ใส่ใจว่า-เราเองนี่แหละควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร
แต่ที่สำคัญ พุทธภาษิตบทนี้ไม่ได้สอนให้เพิกเฉยดูดายต่อสิ่งถูกผิดที่มีคนทำขึ้นในสังคม
เพราะฉะนั้น โปรดใช้ยาให้ถูกกับโรค
……..
ยังไปไม่ถึงข้อความตามป้ายประกาศ ที่ผมบอกว่านี้มีข้อผิดพลาด ๒ แห่ง คือตรงไหน และผิดอย่างไร
ถ้ายังไม่เมื่อย ก็ตามไปดูกันนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
๑๕:๔๘