บาลีวันละคำ

วิตกจริต [2] (บาลีวันละคำ 2,786)

วิตกจริต [2]

ไม่ใช่ “วิตกกังวล

อ่านว่า วิ-ตก-กะ-จะ-หฺริด ก็ได้

อ่านว่า วิ-ตก-จะ-หฺริด ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า วิตก + จริต

(๑) “วิตก

บาลีเป็น “วิตกฺก” อ่านว่า วิ-ตัก-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + ปัจจัย

: วิ + ตกฺก + = วิตกฺก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด คือยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิตกฺก” ว่า reflection, thought, thinking (ความรำพึง, ความคิด, ความตรึกตรอง)

บาลี “วิตกฺก” (วิ-ตัก-กะ) ภาษาไทยใช้เป็น “วิตก” (วิ-ตก)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “วิตก” ว่า to worry, to be anxious

โปรดสังเกตว่าฝรั่งไม่ได้แปล “วิตกฺก” ว่า to worry, to be anxious

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิตก, วิตก– : (คำกริยา) เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล, เช่น วิตกว่าจะเกิดสงคราม, มักใช้เข้าคู่กับคำกังวล เป็น วิตกกังวล เช่น อย่าวิตกกังวลไปนักเลยพรุ่งนี้สถานการณ์คงจะดีขึ้น. (คำนาม) ความตรึก, ความตริ, ความคิด. (ป. วิตกฺก; ส. วิตรฺก ว่า ลังเลใจ).”

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

วิตกฺก + จริต = วิตกฺกจริต อ่านว่า วิ-ตัก-กะ-จะ-ริ-ตะ แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติด้วยความตรึก

วิตกฺกจริต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิตกจริต

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิตกจริต” เป็นอังกฤษว่า the discursive; the ruminating-natured; one of speculative temperament.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วิตกจริต” บอกไว้ว่า –

วิตกจริต : พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปรกติ, มีปรกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจริตชนิดนี้พึงแก้ด้วย เพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน (ข้อ ๖ ในจริต ๖)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [262] จริต หรือ จริยา 6 บอกไว้ว่า –

วิตกจริต : ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน (Vitakka-carita: one of speculative temperament) พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิตกจริต : (คำนาม) ความเป็นทุกข์กังวล เช่น เขาเกิดวิตกจริตว่าจะตื่นไม่ทันไปสอบ, ความประพฤติที่มีพื้นนิสัยหนักไปในทางคิดฟุ้งซ่าน, เป็นจริต ๑ ในจริต ๖. (ดู จริต). (ป.).”

โปรดสังเกตว่า ท่อนแรก พจนานุกรมฯ ให้ความหมายของ “วิตกจริต” ทำนองเดียวกับคำว่า “วิตก” (เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล) ซึ่งเคลื่อนที่ไปจากความหมายเดิมซึ่งอยู่ในท่อนหลัง

…………..

ลักษณะของคนวิตกจริต :

ลักษณะนิสัย คนวิตกจริตเป็นคนชอบคิดมากกว่าพูด พูดมากกว่าทำ ชอบสังคม หนักไปในทางฟุ้งซ่าน และติดจะรั้นๆ ใครชักชวนให้ทำอะไรมักลังเล ตัดสินใจยาก ไม่ใคร่ชอบทางบุญทาน

ท่าทางการเดินของคนวิตกจริตเดินเงอะงะ อย่างที่เรียกว่าซุ่มซ่าม วางเท้ายกเท้ามีอาการเหมือนคอยหวาดระแวง กลัวๆ กล้าๆ แต่งตัวก็มักรุ่มร่าม เวลานั่งหรือยืนมักเหม่อลอย

คนวิตกจริตทำอะไรมักรุ่มร่าม เช่นเวลานอน จัดที่นอนไม่เป็นรูปเป็นร่าง ท่านอนก็เก้งก้าง ชอบนอนคว่ำหน้าเป็นส่วนมาก ถ้าถูกปลุกให้ลุกก็จะทำเสียงงึมงำเหมือนคนละเมอ ลุกก็อืดอาด

เวลาทำงาน เช่นกวาดพื้น คนวิตกจริตจับไม้กวาดหลวมเหมือนจะหลุดมืออยู่ร่ำไป กวาดเปะปะ สะอาดมั่งไม่สะอาดมั่ง เอาแน่นอนไม่ได้

งานอื่นๆ คนวิตกจริตทำไม่ละเอียด (งานละเอียดทำได้ไม่ดี) งานมักยุ่งเหยิง ทำแล้วกลับมาทำซ้ำ ไม่รู้จักเสร็จ

อาหารการกิน คนวิตกจริตไม่มีรสนิยมในการกิน จะว่าชอบอะไรหรือไม่ขอบอะไรก็บอกยาก ตักข้าวคำเล็กๆ แต่มักเรี่ยราดเลอะเทอะ อย่างที่คำเก่าเรียกว่า “กินข้าวหก” กินไปคิดนั่นนี่โน่นไป

คนวิตกจริตไม่มีรสนิยมของตัวเองในเรื่องงานศิลปะ ใครว่าดีก็ว่าตาม ใครว่าไม่ดีก็ว่าตาม ถามอะไรก็ตอบไม่แน่นอนเด็ดขาด หรือบอกแต่ว่า “ไม่มีความเห็น” แต่เนื้อแท้ก็คือไม่รู้ว่าจะแสดงความเห็นอย่างไรนั่นแหละ

โปรดสังเกตว่า คนวิตกจริตจะมีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับคนโมหจริต ท่านว่าจริตสองประเภทนี้มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน เทียบง่ายๆ คนโมหจริตก็ชอบคิดวกวนไปมาฉันใด คนวิตกจริตชอบย้ำคิดย้ำทำฉันนั้น

(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 กัมมฐานคหณนิเทส)

…………..

อภิปรายขยายความ :

มีคำพูดว่า :

(1) เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อย่าวิตกไปเลย

(2) เรื่องนี้ไม่หนักหนาอะไร อย่าวิตกจริตไปเลย

อย่าวิตก” กับ “อย่าวิตกจริต” คำไหนผิดคำไหนถูก?

วิตกจริต” มีความหมายต่างจาก “วิตก

วิตกจริต” เป็นพื้นนิสัยของคน

วิตก” เป็นอาการทุกข์ใจที่เกิดเป็นครั้งคราวในบางเรื่องบางกรณี

เห็นเพื่อนกังวลทุกข์ใจ เราพูดได้ว่า “เมื่อไรจะเลิกวิตกเสียที”

แต่จะพูดว่า “เมื่อไรจะเลิกวิตกจริตเสียที” ดังนี้หาได้ไม่

เพราะ “วิตกจริต” เป็นพื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัย หรือบุคลิกประจำตัว ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วน “วิตก” เป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อเรื่องที่กังวลผ่านพ้นไปก็หายวิตก

ปุถุชนย่อมเกิดวิตกกังวลในบางเวลากันทุกคน แต่ไม่ได้เป็นคนวิตกจริตกันทุกคน บางคนเท่านั้นที่เป็นคน “วิตกจริต

คนกังวลทุกข์ใจทุกคน เราพูดได้ว่าเขาเกิดวิตก

แต่คนเกิดวิตกไม่ใช่คนวิตกจริตหมดทุกคน

โปรดใช้คำให้ถูก ถ้าเคยพูดผิดเขียนผิด จงแก้ไขเสียให้ถูก แต่ไม่ควรอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

อนึ่ง พึงทำความเข้าใจว่า จริตทั้ง 6 นั้นอาจมีได้ในคนคนเดียว แต่จะมีบางจริตเท่านั้นที่เด่นเข้าลักษณะที่คำเก่าเรียกว่า “เป็นเจ้าเรือน” จริตอื่นๆ เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่เจ้าเรือน จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นจริตประจำตัว ที่ท่านว่าคนนั้นเป็นจริตนั้นจริตนี้ (เช่นในที่นี้เป็น “วิตกจริต”) ท่านหมายถึงจริตที่เป็นเจ้าเรือนดังกล่าวนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถาม: อะไรเอ่ย “ตัวเท่าเสาเงาเท่าพ้อม”

ตอบ: ทุกข์ที่ล้อมตัวเราเท่าเสาหลัก

: ความกังวลปนปรุงยุ่งยิ่งนัก

: โตขึ้นสักร้อยเท่ากว่าเสาจริง

#บาลีวันละคำ (2,786)

28-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *