บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ
——————-
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการถืออุโบสถ (๑)
(๑) หลักการ
การถืออุโบสถเท่าที่ปรากฏในคัมภีร์ พอจะสรุปได้ดังนี้ –
๑ นอกพุทธกาล คือก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติ เพียงไม่กินอาหารหลังเที่ยงก็ถือกันว่าเป็นอุโบสถแล้ว
๒ การถืออุโบสถในพระพุทธศาสนา แต่ดั้งเดิมนั้นถืออยู่กับบ้าน นอกจากสมาทานองค์ ๘ แล้ว ก็เจริญธรรม เช่นพิจารณาอาการ ๓๒ เป็นต้นเป็นหลัก
๓ ต่อมาเมื่อมีวัดเกิดขึ้น ผู้ถืออุโบสถจึงนิยมไปฟังธรรมที่วัดในวันอุโบสถ อันที่จริงการไปฟังธรรมที่วัดเป็นกิจที่ผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้ากระทำกันอยู่แล้วทุกวัน คือ ตอนเช้านำภัตตาหารไปถวาย ตอนบ่ายไปถวายน้ำปานะ ตอนเย็นถือเครื่องสักการะไปฟังธรรม
๔ กิจกรรมหลักเมื่อไปถืออุโบสถที่วัด คือฟังธรรมและสนทนาธรรม และมักจะกระทำกันตลอดคืน อันเป็นมูลเหตุให้ผู้ถืออุโบสถไปอยู่ที่วัดตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง และกลายเป็นธรรมเนียมนอนค้างวัดมาจนทุกวันนี้
การฟังธรรมในวันอุโบสถนั้น มีหลักฐานปรากฏในคำอาราธนาธรรมวันอุโบสถที่ว่า –
……………………..
จาตุททะสี ปัณณะระสี
ยา จะ ปักขัสสะ อัฏฐะมี
กาลา พุทเธนะ ปัญญัตตา
สัทธัมมัสสะวะนัสสิเม.
แปลว่า –
วัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ
และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์
เหล่านี้เป็นกำหนดกาล
ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อฟังธรรม
……………………..
และในคำประกาศอุโบสถตอนหนึ่งว่า –
……………………..
เอวะรูโป โข โภนโต ทิวะโส
พุทเธนะ ภะคะวะตา ปัญญัตตัสสะ
ธัมมัสสะวะนัสสะ เจวะ ตะทัตถายะ
อุปาสะกะอุปาสิกานัง อุโปสะถัสสะ จะ กาโล โหติ.
แปลว่า –
ชาวเราเอย วันเช่นนี้แล
เป็นวันที่อุบาสกอุบาสิกาพึงสดับพระธรรมเทศนา
และรักษาอุโบสถศีลเพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรมนั้น
อันพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
……………………..
ในภาษาไทยมีคำเรียกวันอุโบสถหรือวันพระ ว่า “วันธรรมสวนะ” ซึ่งแปลได้ตรงตัวว่า “วันฟังธรรม” เป็นอันยืนยันได้แน่นอนว่า กิจกรรมสำคัญในวันอุโบสถก็คือการฟังธรรม
(ข้อสังเกต ยังมีต่อ)
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔
๑๗:๔๙