วิภัชวาที (บาลีวันละคำ 557)
วิภัชวาที
อ่านว่า วิ-พัด-ชะ-วา-ที
บาลีเป็น “วิภชฺชวาที” อ่านว่า วิ-พัด-ชะ-วา-ที
ประกอบด้วย วิภชฺช + วาที
“วิภชฺช” เป็นคำกริยากิตก์ (“กิตก์” อ่านว่า กิด ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต) แปลว่า แบ่ง, แยก, แบ่งส่วน, แบ่งออก, แบ่งชั้น, วิเคราะห์, จัดหรือแสดงรายละเอียด, บ่งรายละเอียด, ทำอย่างละเอียด (ฝรั่งแปลไว้ว่า dividing, analysing, detailing; in detail)
“วาที” คำเดิมคือ “วาท” (วา-ทะ) แปลว่า การกล่าว, คำพูด, ความเห็น, คำสอน, ลัทธิ : วาท + ณี ปัจจัย = วาที หมายถึง ผู้กล่าว, ผู้ชี้แจง, ผู้พูด, ผู้สอน, ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีหรือความเห็น
วิภชฺช + วาที = วิภชฺชวาที ภาษาไทยเขียน “วิภัชวาที” (โปรดสังเกต บาลีมี ชฺช ซ้อน) แปลว่า “ผู้กล่าวจำแนก” “ผู้แยกแยะพูด” “ผู้สอนด้วยวิธีจำแนกแยกแยะ” เป็นคำแสดงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า ทรงแสดงธรรมแยกแยะแจกแจงออกไปให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ มาประชุมกันเข้าอย่างไร สิ่งทั้งหลายมีด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษอย่างไร เรื่องนั้นๆ มีข้อจริงข้อเท็จอะไรบ้าง การกระทำอย่างนั้นๆ มีแง่ถูกแง่ผิดแง่ที่ดีและแง่ไม่ดีประการใด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งนั้นเรื่องนั้นอย่างชัดเจน มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง
ข้อดี-ข้อเสีย :
: เสียบางอย่าง เสียแล้วยังพอเหลือดี
: แต่เสียบางอย่าง เสียแล้วหมดดี
——————–
(ตามคำขอของ Kiattisak Nitikool)
24-11-56