บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๑๖)

——————-

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการถืออุโบสถ (๒)

(๒) ความเป็นจริงในปัจจุบันของผู้ไปถืออุโบสถที่วัด

ข้อสังเกตต่อไปนี้ได้จากคณะผู้ถืออุโบสถวัดมหาธาตุราชบุรีเป็นหลัก ผู้ถืออุโบสถสำนักอื่นๆ อาจไม่เป็นแบบนี้

ข้อสังเกตที่ ๑ ไม่นิยมสนทนาธรรม แต่ชอบคุยกันนอกเรื่อง

ข้อสังเกตที่ ๒ วันธรรมดานอนดึก วันอุโบสถนอนแต่หัวค่ำ

ข้อสังเกตที่ ๓ กิจกรรมทุกอย่างยึดถือรูปแบบเป็นสำคัญกว่าเนื้อหาสาระที่ถูกต้องแท้จริง และเมื่อได้ทำตามรูปแบบเสร็จแล้วก็ถือว่าสำเร็จผลแล้ว โดยไม่ติดใจที่จะรู้ว่าสาระที่แท้จริงของกิจกรรมนั้นคืออะไร เช่น –

ข้อสังเกตที่ ๓/๑ การสวดมนต์

การสวดมนต์นั้นเป็นกิจกรรมที่ผู้ถืออุโบสถให้ความสำคัญมาก ขาดไม่ได้ ถึงไม่ได้ค้างวัดก็ขอให้ได้มาสวดมนต์ แต่แทบทุกคนต้องกางหนังสือสวด

การกางหนังสือสวดเป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่น่าเป็นห่วง คือทำให้คนเราหมดความอุตสาหะที่จะท่องจำ แทนที่จะเก็บบทสวดไว้ในสมองในจิตใจ ก็เอาไปฝากไว้ในหนังสือ ถึงกระนั้นแล้ว เวลาจะขึ้นบทไหนก็ยังถามหรือยังต้องให้บอกว่าบทนั้นอยู่หน้าไหน ทั้งๆ ที่สวดมาแล้วหลายสิบรอบ (แม้แต่บทที่สวดอยู่หน้าไหนก็ไม่คิดจะจำ!)

เหตุผลต้นเดิมของสวดมนต์คือทบทวนความรู้ เดี๋ยวนี้มีศรัทธาต้องการสวดมนต์ แต่ไม่ต้องการความรู้ เป็นค่านิยมที่เบี่ยงเบนไปมากทีเดียว

ที่เกิดมีระบบสวดแปลนั้นเหตุผลก็เพื่อให้รู้เรื่อง แต่พอถามความรู้ความเข้าใจเข้าจริงๆ ส่วนมากก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเองทั้งๆ ที่ได้สวดแปลมาแล้วแท้ๆ

การอยากรู้เรื่องในบทสวดมนต์นั้นก็เป็นเรื่องดี แต่ควรแบ่งเวลาไปศึกษาหาความรู้ในเวลาอื่น ไม่ใช่จำเพาะจะต้องรู้ในขณะที่สวด (ทำนองเดียวกับฟังพระสวดมนต์ เวลานี้เกณฑ์จะให้พระสวดแปลเป็นไทยด้วย อ้างว่าสวดเป็นบาลีฟังไม่รู้เรื่อง)

การศึกษาหาความรู้ในบทสวดมนต์นั้นศึกษาจากหนังสือสวดมนต์ในวันที่ไปถืออุโบสถนั่นเลย ดีที่สุด เพราะมีเพื่อนที่ถืออุโบสถด้วยกันให้ร่วมคิดร่วมศึกษา พระสงฆ์ในวัดก็มีให้ไต่ถามได้สะดวก

ถ้าพระท่านไม่รู้ ก็ยิ่งสมควรถาม (ทำนองเดียวกับธรรมเนียมมีพระราชปุจฉา) เพื่อเป็น “การบ้าน” ให้ท่านไปศึกษาหาความรู้มาถ่ายทอดให้ญาติโยมฟัง เพราะนั่นคือหน้าที่ของพระโดยตรง (หน้าที่ของพระสงฆ์ คือ ศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย)

เมื่อศึกษาจนเข้าใจเรื่องราวในบทสวดแล้ว ครั้งต่อไปพอสวดบทนั้นอีกก็จะรู้เรื่องได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องแปลซ้ำ

แต่ส่วนมากสวดเสร็จก็เก็บหนังสือ ไม่สนใจที่จะเปิดอ่านเพื่อศึกษาอะไรอีก หนังสือสวดมนต์ก็เลยมีไว้เพื่อกางสวดเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือบันทึกวิชาความรู้อันประเสริฐ เพราะเหตุนี้การสวดแปลก็เลยกลายเป็นรูปแบบที่ยึดถือกัน โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะศึกษาให้รู้เรื่องในบทสวดจริงจังแต่ประการใด

เวลานี้อาจกล่าวได้ว่า ความถดถอยได้ลุกลามมากขึ้น จากเดิมท่องบทสวดมนต์ได้ เดี๋ยวนี้กลายเป็นต้องกางหนังสือสวด

ตอนนี้แม้แต่คำแปลหรือความหมายก็ซึมซับรับไว้ไม่ได้ พอสวดคำบาลีต้องสวดคำแปลด้วยจึงจะรู้

ในอนาคตอาจถึงขั้นแม้แต่คำบาลีก็สวดไม่ได้

จึงควรที่จะช่วยกันส่งเสริมให้มีอุตสาหะในการท่องบ่นบทสวดมนต์เพื่อรักษาแบบแผนที่ดีงามไว้ให้ยั่งยืนต่อไป

……………………..

เรื่องกางหนังสือสวดและสวดมนต์แปลนี้ ผมเคยนำเสนอทางเฟซบุ๊กมาแล้ว มีเสียงโต้แย้งอยู่พอสมควร จึงขอบอกย้ำไว้ในที่นี้ว่า ที่ว่ามานี้เป็นข้อสังเกตของผมเท่านั้น ไม่ใช่คำคัดค้านหรือโจมตีหรือขัดขวาง ท่านทั้งหลายยังคงกางหนังสือสวดและสวดแปลต่อไปได้ตามสบาย ผมไม่ได้ต่อต้านท่าน ผมเคยบอกด้วยซ้ำไปว่า เวลาผมไปสวดมนต์ร่วมกับคณะที่เขาสวดแปล ผมก็สวดแปลด้วย ไม่เคยลุกขึ้นมาคัดค้านใคร

ที่ว่ามาข้างต้น ผมเพียงเสนอแนวคิดและเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรท่องจำบทสวดมนต์ให้ได้ และทำไมเราจึงควรจัดแบ่งเวลาเพื่อศึกษาความหมายในบทสวดให้เข้าใจ ซึ่งก็คือการศึกษาพระธรรม เจตนาของผมก็เพื่อกระตุ้นเตือนและให้กำลังใจให้พวกเรามีอุตสาหะในการทำความดีให้ประณีตขึ้น อันเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราสามารถทำได้ ถ้าทำก็เป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ผมผู้เสนอไม่พลอยได้ดิบได้ดีอะไรด้วยเลย แต่ถ้าท่านไม่คิดจะทำ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพโดยชอบธรรมของท่าน ไม่มีใครจะมาทำอะไรท่านได้เลย

หวังว่าคงเข้าใจเจตนาตรงกันนะครับ

(ข้อสังเกต ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๘:๑๐

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *