บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๑๗)

——————-

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการถืออุโบสถ (๓)

ข้อสังเกตที่ ๓/๒ การฟังเทศน์

ส่วนใหญ่จะฟังเอาบุญ แต่ไม่เอากุศล คือไม่เกิดปัญญา เริ่มตั้งแต่จุดธูปเทียน บูชาพระ อาราธนาธรรม ประนมมือฟังจน เอวังก็มี รับพร ถวายเครื่องกัณฑ์ เป็นอันจบ ถือว่าได้บุญเรียบร้อยแล้ว

แต่อย่าถามว่า พระเทศน์เรื่องอะไร สาระสำคัญว่าอย่างไร เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ต้องการรู้!

ข้อสังเกตที่ ๓/๓ การสนทนาธรรม

ส่วนมากแล้วไม่ได้ทำกิจกรรมนี้ ถ้าทำ แทนที่จะเป็นการพูดคุยธรรมะตามธรรมชาติเหมือนคนนั่งคุยกัน มักกลายรูปแบบเป็นการเรียนธรรมในห้องเรียน ซึ่งชวนให้เคร่งเครียด เป็นเหตุให้ผู้สูงวัยไม่เข้าร่วมกิจกรรมโดยอ้างว่าอายุมากแล้ว สมองไม่ดี “เรียน” ไม่ไหว

การสนทนาธรรมคือการคุยธรรมะกัน ถ้ายังมีสมองคุยเรื่องต่างๆ ได้ ก็ย่อมสามารถคุยธรรมะได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องทำบรรยากาศในการคุยธรรมะให้กลายเป็นการเรียนธรรมะในชั้นเรียน

ข้อสังเกตที่ ๓/๔ ปฏิบัติธรรม

ส่วนมากยังยึดวิธีการตามแบบที่ได้ไปปฏิบัติมาจากสำนักต่างๆ คือต้องนั่งแบบนั้น ต้องเดินแบบนั้น ต้องเตรียมสถานที่ ต้องทำเป็นเวลา พอหมดเวลาก็เลิกทำ

การปฏิบัติธรรมที่ควรจะเป็นการกระทำตามปกติในชีวิตจริงจึงกลายกิจกรรมที่แปลกแยกไปจากชีวิตปกติ

ข้อสังเกตที่ ๓/๕ การแต่งกาย

มีส่วนหนึ่งที่เข้าใจว่า จะถืออุโบสถศีลต้องแต่งชุดขาว หรือชุดอุโบสถตามธรรมเนียมของวัดนั้นๆ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นรูปแบบที่ดี ควรแก่การอนุโมทนา แต่ไปๆ มาๆ ทำท่าจะกลายเป็นเพียงติดในรูปแบบ คือเข้าใจไปว่าถ้าไม่ได้แต่งชุดแบบนั้นก็ถืออุโบสถศีลไม่ได้ หรือปฏิบัติธรรมไม่ได้ แล้วเลยรู้สึกต่อไปว่า เพียงแค่แต่งชุดอุโบสถ ไปวัด ค้างวัด ทำนั่นนี่ไปตามธรรมเนียม เท่านี้ก็ได้บุญแล้ว

เหมือนถือชามเปล่ามาจากบ้าน เช้ารุ่งขึ้นก็ถือกลับบ้านโดยไม่สนใจว่ามีอะไรใส่ชามกลับไปบ้างหรือเปล่า

(ข้อสังเกต ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๘:๓๖

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *