บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๑๘)

——————-

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการถืออุโบสถ (๔)

ข้อสังเกตที่ ๔ ศรัทธานำปัญญา คือทำเช่นนั้นเช่นนี้ หรืองดกระทำเช่นนั้นเช่นนี้โดยยึดความเชื่อของตนเองเป็นหลักมากกว่าที่จะศึกษาให้เข้าใจถึงหลักการของเรื่องนั้นๆ ว่าทำไมจึงทำและทำไมจึงห้ามทำ

ข้อสังเกตที่ ๕ ขาดลักษณะนิสัยใฝ่รู้ในทางธรรม ทั้งๆ ที่ส่วนมากก็บอกว่ายังไม่ค่อยรู้อะไร (ยังไม่รู้ น่าจะยิ่งใฝ่รู้ แต่กลับตรงกันข้าม)

ข้อสังเกตที่ ๖ ให้ความสำคัญแก่บุญไวยาวัจมัย (เก็บกวาด เช็ดถู ขัดล้าง หยิบยก ฯลฯ) มากเป็นพิเศษ แต่ให้ความสำคัญแก่บุญภาวนามัย และธัมมัสสวนมัย หรือการฝึกฝนอบรมปรับปรุงอารมณ์ ลักษณะนิสัย จิตใจ และความรู้ความเข้าใจทางธรรมของตนเองน้อยเป็นพิเศษ (อาจเป็นไปตามลักษณะนิสัยของผู้นำในแต่ละสำนัก)

โปรดสำรวจดูว่า เมื่อไปถืออุโบสถศีล หรือไปนอนค้างวัดในวันอุโบสถ ท่านเป็นเช่นที่ว่ามานี้หรือเปล่า

ถ้าเป็น ท่านคิดจะปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ หรือว่าท่านมีเหตุผลที่คิดว่าถูกต้องแล้วที่จะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป

………………

ขอย้ำว่า ข้อสังเกตทั้งหมดที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น (บอกบุญอุโบสถ (๑๕) https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3841051982655177) เป็นความเห็นส่วนตัว แต่เป็นความเห็นที่เกิดจากประสบการณ์ตรงจากการร่วมถืออุโบสถกับชาวคณะอุโบสถวัดมหาธาตุราชบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ จนถึงทุกวันนี้

ลักษณะนิสัยของผู้ที่อุโบสถที่สำนักอื่นอาจไม่ได้เป็นแบบที่กล่าวมา กิจกรรมตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งของผู้ถืออุโบสถสำนักอื่นๆ ก็อาจไม่เหมือนกัน แต่หลักใหญ่ย่อมจะตรงกัน นั่นคือ สวดมนต์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม

ที่นำเสนอประเด็นเหล่านี้ไม่ได้มีความประสงค์จะให้โตเถียงกันว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าจะไม่ให้เป็นอย่างนี้จะต้องทำอย่างไร เจตนาของการนำเสนอก็เพื่อฉายภาพการถืออุโบสถที่ปรากฏจริงในที่แห่งหนึ่งสำหรับเป็นข้อมูล เป็นแนวคิด เป็นทางดำริ

วัดต่างๆ สำนักต่าง ที่มีกิจกรรมถืออุโบสถอยู่แล้วก็ดี ที่กำลังคิดจะจัดให้มีขึ้นก็ดี จะได้มองเห็นภาพจริงและเกิดภาพในจินตนาการ …

ที่นั่นเป็นอย่างนี้

ที่นี่เป็นอย่างไร

และที่จะเกิดมีขึ้นใหม่จะเป็นอย่างไร

ถึงตอนนั้นแหละที่ควรจะช่วยกันระดมความคิดเห็นว่า กิจกรรมถืออุโบสถตามวัดต่างๆ ทั่วสังฆมณฑลหรือทั่วเมืองไทยของเราควรประกอบด้วยเนื้อหาสาระเป็นเช่นไร

………………

ผมมีความหวังและมีความเห็นว่า กิจกรรมถืออุโบสถเป็นการประกาศความเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัย

การประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ – อันเป็นศาสนาประจำชาติโดยนิตินัย – ถ้ายังคิดจะทำกันอยู่ ก็ต้องทำกันต่อไป และอาจต้องรอกันยาวนาน เพราะเรามีแต่คนพูด แต่ไม่มีคนลงมือทำ

แต่การประกาศว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยนั้นสามารถทำได้ทันทีเดี๋ยวนี้

วิธีหนึ่งก็คือการที่ชาวพุทธเราชวนกันถืออุโบสถทุกวันพระ โดยมีวัดต่างๆ เป็นแกนนำ เป็นศูนย์กลาง เริ่มด้วยท่านเจ้าอาวาสต้องมีอุดมการณ์มีอุดมคติ มีความตั้งใจทำงานเพื่อพระศาสนา

วัดที่ยังไม่มีกิจกรรมถืออุโบสถ ขอให้จัดให้มีขึ้น ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หาข้อมูล+ขอคำแนะนำจากวัดที่มีผู้ถืออุโบสถอยู่แล้ว

วัดที่มีผู้ถืออุโบสถอยู่แล้ว รักษาไว้ให้มั่นคงและขยายผลให้กว้างขวางแพร่หลายยิ่งๆ ขึ้นไป

งานนี้ไม่ต้องรอคำสั่งคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม วัดต่างๆ สามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ของท่านเจ้าอาวาสซึ่งมีอำนาจทำได้อยู่แล้ว

หมายความว่า เจ้าอาวาสต้องมีอุดมคติ อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา

จุดนี้แหละที่ผมเห็นว่า-ถึงเวลาแล้วที่คณะสงฆ์ควรจะสร้างระบบ “สร้างพระสังฆาธิการ” ขึ้นมาใช้งาน ไม่ใช่ปล่อยให้มีมาตามบุญตามกรรมอย่างที่กำลังเป็นอยู่

ต่อไปนี้ พระที่จะเป็นเจ้าอาวาสคือพระที่คณะสงฆ์ปั้นมาสร้างมาตั้งแต่ต้น

กรุณาอย่าเพิ่งแย้งค้านว่า-คนมันจะไม่อยู่ ปั้นอย่างไรมันก็ไม่อยู่

อยู่หรือไม่อยู่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรามุ่งถึงคนที่อยู่ ซึ่งก็จะต้องมีอยู่ด้วยแน่ๆ

ปั้นมา ๑๐๐ คน อยู่แค่ ๕๐ คน ก็เอา ก็ดี

ปั้นมา ๑๐๐ คน อยู่แค่คนเดียว ถ้ามันจะแย่ถึงขนาดนั้นก็เอา ก็ดี อย่างน้อยเราก็ได้เจ้าอาวาสที่สร้างมากับมือ ๑ รูป ซึ่งมั่นใจได้ว่าท่านจะทำงานด้วยอุดมคติเพื่อพระศาสนา

นี่ไม่ได้แปลว่าท่านเจ้าอาวาสที่บุญกรรมจัดสรรท่านจะไม่มีอุดมคติ แต่เพราะเราหวังไม่ได้ว่าท่านจะมี เราจึงต้องใช้วิธีสร้างขึ้นเอง ไม่รอให้บุญกรรมจัดสรรท่าเดียว

เมื่อช่วยกันทำให้วัดต่างๆ มีผู้ถืออุโบสถอยู่ทั่วไป ถึงตอนนั้นเราก็สามารถยืนยันได้เต็มปากว่า-นี่ไงคือข้อพิสูจน์ว่าเมืองไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ทุกวัดมีประชาชนมาถืออุโบสถทุกวันพระ

แล้วก็ช่วยกันพัฒนาคุณภาพของผู้ถืออุโบสถให้สูงขึ้น คือมีปัญญาสมเสมอกับมีศรัทธา อย่างน้อยๆ ก็รู้เข้าใจถูกต้องว่าถืออุโบสถคือต้องทำอะไรและต้องไม่ทำอะไร และถืออุโบสถแล้วได้ประโยชน์อย่างไร

ถืออุโบสถเป็นการรักษาตัวเอง

รักษาพระศาสนา

และรักษาสังคมชาติบ้านเมืองไปพร้อมๆ กัน

ถืออุโบสถที่ถูกต้องเป็นบุญที่ลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้ผลมหาศาล สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า –

………………………

เอวํ  อุปวุตฺโถ  โข  วิสาเข  อริยูโปสโถ  

มหปฺผโล  โหติ  มหานิสํโส  มหาชุติโก  มหาวิปฺผาโร.

ดูก่อนวิสาขา อริยอุโบสถอันบุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก

(อุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตรนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๐)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๔:๒๕

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *