บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ
——————-
คณะอุโบสถวัดมหาธาตุ ราชบุรี
ในเมืองไทยของเรานี้ เมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษาประชาชนนิยมไปประชุมกันทำบุญตามวัดต่างๆ ในละแวกบ้านของตนทุกวันพระ พร้อมกันนั้นก็จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งสมาทานอุโบสถศีลตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง เมื่อเสร็จกิจตลอดเวลากลางวันแล้วบ้างก็กลับบ้าน บ้างก็นอนค้างที่วัด ต่อรุ่งเช้าทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้าเสร็จแล้วจึงกลับบ้าน ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันพระตลอดพรรษา เรียกรู้กันว่าไปถือศีล ซึ่งหมายถึงศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ บางทีก็เรียกว่าถืออุโบสถ หรือรักษาอุโบสถ
วัดมหาธาตุ ราชบุรี ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับวัดทั่วไป เท่าที่ฟังมา ผู้มาถือศีลวันพระที่วัดมหาธาตุแต่เดิมมามีไม่มาก และส่วนมากไม่ได้นอนค้างที่วัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะที่วัดมหาธาตุเกิดมีสำนักสตรีผู้ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๕ (สมัยหลวงพ่อตั๋นเป็นเจ้าอาวาส) เรียกชื่อ “สำนักประชุมนารี” โดยมีสตรีบวชเป็นแม่ชี ถือศีล ๘ มาอยู่รวมกันหลายท่าน จึงเสมือนมีผู้ถืออุโบสถพำนักอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว พอเข้าพรรษาหากผู้มาทำบุญที่วัดมีศรัทธาจะรักษาอุโบสถในวันพระ ที่เป็นผู้หญิงหากจะอยู่ค้างคืนก็คงจะเข้าไปค้างในสำนักประชุมนารี ไม่ค้างในวัด ที่เป็นผู้ชายก็น่าจะค้างในวัด ในสมัยพระราชธรรมเสนานีเป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๔๙๒-พ.ศ.๒๕๐๔) พบร่องรอยว่ามีอยู่คนหรือสองคน เป็นไทยมอญ บ้านอยู่ท่าเสา วันพระจะมาถือศีลอยู่ที่วัด
ธรรมเนียมถืออุโบสถนอนค้างวัดนั้นเห็นจะมีมูลสืบเนื่องมาจากสมัยพุทธกาล กล่าวคือสมัยที่ยังไม่มีวัดสำหรับพระสงฆ์อยู่ประจำที่ เมื่อพระสงฆ์มาพักจำพรรษาอยู่ใกล้หมู่บ้านโดยชาวบ้านช่วยกันจัดแจงตกแต่งเสนาสนะให้พอพักอาศัยอยู่ได้ตามอัตภาพ (เสนาสนะเหล่านั้นเมื่อมีพระสงฆ์หมุนเวียนมาพำนักอยู่เป็นประจำ ต่อมาก็ได้กลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนาดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน) ตกเวลาเย็นชาวบ้านก็จะไปปรนนิบัติพระสงฆ์ด้วยการถวายน้ำปานะและถือโอกาสสนทนาธรรมฟังธรรมไปด้วย ถ้าเป็นวันพระก็ถืออุโบสถศีลและนิยมฟังธรรมกันตลอดคืน จนรุ่งเช้าจึงกลับบ้าน คงถือปฏิบัติเช่นนี้สืบกันมา ตกมาถึงสมัยปัจจุบันแม้บางวัดจะไม่ได้สนทนาธรรมฟังธรรมตลอดคืน แต่ก็ยังมีผู้ถืออุโบสถนอนค้างวัดเป็นธรรมเนียมสืบมา ด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้บำเพ็ญบุญกิริยาได้เต็มที่สมกับคำที่ว่า “ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง”
การสนทนาธรรมฟังธรรมตลอดคืนนั้น วัดมหาธาตุ ราชบุรี ถือปฏิบัติสืบต่อมาได้อย่างหนึ่ง คือวันวิสาขบูชา พระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาชาววัดมหาธาตุจะอยู่ทำกิจกรรมสนทนาธรรมและฟังธรรมกันตลอดคืนทุกปี ยังทำมาจนถึงทุกวันนี้
ตั้งแต่สมัยพระราชธรรมเสนานีเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนถึงสมัยพระเทพวิสุทธิโมลี (พ.ศ.๒๕๐๔-พ.ศ.๒๕๓๘) ช่วงเข้าพรรษาทุกวันพระก็มีชาวบ้านมาทำบุญที่วัด พระสงฆ์ลงศาลาสวดถวายพรพระ รับสังฆทาน แล้วยกสำรับภัตตาหารไปฉันตามคณะ ไม่ได้ฉันรวมกันที่ศาลา เวลาประมาณ ๐๘:๓๐ พระสงฆ์สามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ อุบาสิกาสำนักประชุมนารีพร้อมทั้งทายกทายิกาที่มาทำบุญและมีศรัทธารักษาอุโบสถมารวมกันในพระอุโบสถ พระสงฆ์สามเณรทำวัตรเช้าจบแล้วคณะอุบาสิกาและญาติโยมทำวัตรเช้า จบแล้วพระแสดงธรรมขึ้นธรรมาสน์ อุบาสิกาที่ได้รับมอบหมายประกาศอุโบสถ จบแล้วอาราธนาธรรม พระแสดงธรรมจบ คณะอุบาสิกาและญาติโยมสวดสาธุการรับเทศน์ จบแล้วพระเทศน์อนุโมทนาขึ้นบทยถา พระสงฆ์สามเณรรับสัพพี เป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนั้นผู้ถืออุโบสถจะกลับบ้านหรืออยู่ค้างวัดก็ปฏิบัติกิจต่างๆ ไปตามอัธยาศัย
ออกพรรษาแล้วไม่มีการทำบุญวันพระ แต่การลงทำวัตร ฟังเทศน์ในพระอุโบสถทุกวันพระมีตลอดทั้งปี
เมื่อพระธรรมปัญญาภรณ์ (ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระวิสุทธิธีรพงศ์) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๕๓๘-ปัจจุบัน) ท่านได้ฟื้นฟูธรรมเนียมทำบุญวันพระของวัดมหาธาตุให้เข้มข้นขึ้น และชักชวนญาติโยมให้มาถืออุโบสถนอนค้างวัดตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา
วัดส่วนใหญ่มีการทำบุญทุกวันพระเฉพาะในระหว่างเข้าพรรษา พอออกพรรษาหมดเขตกฐินคือถึงวันลอยกระทงก็หยุดทำบุญวันพระ ไปเริ่มกันอีกทีก็เมื่อเข้าพรรษาปีต่อไป
วัดมหาธาตุก็เป็นเช่นนั้น คือพอออกพรรษาก็ไม่มีการทำบุญวันพระ แต่เมื่อมีอุบาสกอุบาสิกามาถืออุโบสถนอนค้างวัดกันแล้ว ญาติโยมชาววัดมหาธาตุจึงได้ชักชวนกันให้มีการทำบุญทุกวันพระตลอดทั้งปี วัดมหาธาตุจึงได้มีการทำบุญวันพระและมีผู้ถืออุโบสถค้างวัดตลอดทั้งปีสืบมาจนถึงปัจจุบัน และเรียกขานผู้ถืออุโบสถว่า “คณะอุโบสถ”
หนังสือ สวดมนต์ฉบับอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งวัดมหาธาตุ ราชบุรี พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ ได้กล่าวถึงเรื่อง “ธรรมเนียมการถืออุโบสถศีลของวัดมหาธาตุ ราชบุรี” ขอคัดข้อความตอนหนึ่งมาลงไว้ในที่นี้ดังต่อไปนี้
………………….
ธรรมเนียมการถืออุโบสถศีลของวัดมหาธาตุ ราชบุรีในปัจจุบันนี้นั้นเกี่ยวพันกับการทำบุญวันพระ จึงขอบันทึกไว้เพื่อให้เห็นภาพ และเพื่อเป็นหลักฐานดังต่อไปนี้
วันโกน ตอนบ่ายประมาณ ๑๕:๐๐ นาฬิกา เคาะระฆัง พระภิกษุสามเณรกวาดอาวาส วิหาร ลานพระเจดีย์ แม่ชีในสำนักประชุมนารีทำความสะอาดกวาดบริเวณพระปรางค์ คนวัดทำความสะอาดศาลา ปูลาดอาสนะ เตรียมภาชนะใส่อาหาร และสถานที่ตักบาตร
วันพระ ชาวบ้านมาทำบุญตอนเช้า พระลงศาลาเวลาประมาณ ๐๗:๓๐ นาฬิกา มรรคนายกนำบูชาพระรัตนตรัย สมาทานศีล พระสงฆ์สวดถวายพรพระ ผู้มาทำบุญบางส่วนที่ยังถือธรรมเนียมเดิม จะลุกขึ้นไปตักบาตรตอนขึ้นบทพาหุง
ถวายพรพระจบแล้ว มรรคนายกนำบูชาข้าวพระพุทธและถวายสังฆทาน ประธานสงฆ์ (โดยปกติเป็นท่านเจ้าอาวาส) กล่าวธรรมกถาแล้วอนุโมทนา
ต่อจากนั้นพระสงฆ์ฉันที่ศาลา ในระหว่างพระฉัน อุบาสกอุบาสิกาขึ้นไปทำวัตรเช้าบนวิหารหลวง (เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ ได้สร้างศาลาสุภัทโทขึ้นที่หน้าพระปรางค์ และใช้เป็นศาลาบำเพ็ญกุศลอย่างศาลาการเปรียญ วิหารหลวงกับศาลาสุภัทโทอยู่ใกล้กัน) เมื่อพระฉันเสร็จแล้วขึ้นไปทำวัตรบนวิหารหลวง อุบาสกอุบาสิกาลงมารับประทานอาหารเช้า
พระสงฆ์ทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว มาประชุมพร้อมกันในศาลา เจ้าของกัณฑ์เทศน์ประจำวันพระนั้นจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และจุดเทียนส่องธรรม มรรคนายกประกาศอุโบสถ (เท่าที่ผ่านมา ผู้ประกาศอุโบสถมักเป็นแม่ชีในสำนักประชุมนารี) อาราธนาอุโบสถศีล อาราธนาธรรม พระธรรมกถึกแสดงธรรม จบแล้ว คณะอุบาสกอุบาสิกาสวดสาธุการรับเทศน์ พระธรรมกถึกอนุโมทนาขึ้นบทยถา พระสงฆ์ที่ลงฟังเทศน์รับสัพพี เป็นอันเสร็จพิธีในตอนเช้า
เมื่อถึงเวลาเพล พระสงฆ์ลงฉันเพลที่ศาลา ผู้ถืออุโบสถศีลรับประทานอาหารกลางวัน เสร็จแล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย ตอนบ่ายผู้ถืออุโบสถศีลซ้อมสวดมนต์หรือสนทนาธรรม หรือปฏิบัติธรรมตามแต่เหตุการณ์
เวลา ๑๗:๐๐ นาฬิกา เคาะระฆัง ผู้ถืออุโบสถศีลขึ้นทำวัตรเย็นบนวิหารหลวง ทำวัตรสวดมนต์จบแล้วปฏิบัติธรรมตามความสามารถ
เวลา ๑๙:๓๐ นาฬิกา ฟังพระธรรมเทศนาอีกกัณฑ์หนึ่ง จบแล้วสนทนาธรรมตามอัธยาศัยจนได้เวลาพอสมควรจึงเข้านอน
เวลา ๐๔:๐๐ นาฬิกา เคาะระฆัง ผู้ถืออุโบสถศีลตื่นขึ้นทำวัตรเช้ามืดบนวิหารหลวง ทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว ปฏิบัติธรรมตามความสามารถ จนรุ่งสว่าง ทำความสะอาดบริเวณที่พัก รับประทานอาหารเช้า แล้วลาพระกลับบ้าน
ปัจจุบันทางวัดมหาธาตุ ราชบุรี มีนโยบายว่า จะพยายามให้มีกิจกรรมถืออุโบสถศีลค้างคืนอยู่ที่วัดสืบต่อไปมิให้ขาดสาย โดยจะอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร เช่นจัดที่พักให้ จัดอาหารเช้าให้รับประทานก่อนกลับบ้าน เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นกังวลว่ามาค้างวัดแล้วต้องกลับไปเสียเวลาหุงหามื้อเช้ากินเองอีก และจัดรถไปส่ง แต่จะไม่จัดรถไปรับ เพราะการไปรับอาจแปลเจตนาไปได้หลายอย่าง ทั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้มาถืออุโบสถศีลค้างวัดมาด้วยความเต็มใจสมัครใจมากันเองจริงๆ มิได้มาเพราะเกรงใจคนไปรับแต่ประการใด
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔
๑๖:๓๐