บาลีวันละคำ

อุปเสโณ (บาลีวันละคำ 673)

อุปเสโณ

แปลว่าอะไร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ เกิดวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471, อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2492, มรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556, พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

มีปัญหาถามกันว่า คำว่า “อุปเสโณ” อันเป็นนามฉายาของท่านนั้นแปลว่าอะไร ?

ในประวัติพระพุทธศาสนา มีพระอรหันตสาวกองค์หนึ่ง ชื่อ “อุปเสน”  (อุบ-ปะ-เสน อ่านแบบบาลีว่า อุ-ปะ-เส-นะ) ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ คือเลิศกว่าภิกษุสาวกอื่นๆ ในทางทำให้เกิดความเลื่อมใสทั่วทุกด้าน (คือไม่เฉพาะตนเองน่าเลื่อมใส แม้คณะศิษย์ก็น่าเลื่อมใสไปหมด)

อุปเสน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่มารดาเข้าไปนอนใกล้ๆ” (นอนกับแม่ หรือลูกที่แม่ทะนุถนอมมาก)

แต่ “อุปเสน” คำนี้สะกดด้วย หนู ไม่ใช่ เณร

อุปเสโณ” อ่านว่า อุ-ปะ-เส-โน ประกอบด้วย อุป + เสโณ (ศัพท์เดิม อุปเสณ อุ-ปะ-เส-นะ)

อุป” (อุ-ปะ) คำอุปสรรค แปลว่า เข้าไป, ใกล้

คำที่มีปัญหาคือ “เสณ” ค้นในคัมภีร์ไม่พบศัพท์ที่สะกดเช่นนี้

บาลีมี “เสน” (เส-นะ น หนู) มี 2 ความหมาย คือ

1 เสน รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) > เส + ยุ ปัจจัย > อน = เสน แปลว่า การนอน, การหลับ; เก้าอี้นอน, เตียง (lying, sleeping; couch, bed)

2 เสน แปลว่า เหยี่ยว (a hawk) รากศัพท์มาจาก –

(1) เส (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย = เสน แปลตามศัพท์ว่า “นกที่บินไป” (คือบินหาเหยื่อเรื่อยไป)

(2) สิ (ธาตุ = ผูก, จับ) > เส + ปัจจัย = เสน แปลตามศัพท์ว่า “นกที่จับเหยื่อ

น่าสังเกตเล่นๆ ว่า “เสน” แปลว่า “เหยี่ยว” ระดับเสียงเท่ากับ “เกี่ยว” อันเป็นนามของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ และนามฉายาของท่านมีคำว่า –เสณ

อีกศัพท์หนึ่งที่เสียงใกล้กัน คือ “เสนา” แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ทหารที่ผูกกันไว้” หรือ “หมู่ทหารที่เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” หมายถึง กองทัพ

เสนา” แปลงเป็น “เสณี” ได้ หมายถึง แม่ทัพ

แต่ยังไม่พบว่า ทั้ง “เสน” และ “เสนา” แปลงเป็น “เสณ” (ณ เณร)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า –

– “เศณวี” แปลว่า พุทธิ, ความเข้าใจ, มติ, ปรัชญาหรือปัญญา (understanding; intellect)

– “เศณา” แปลว่า พุทธิ, มนัส, มติ (understanding, mind, intellect)

เศณา” ของสันสกฤตดูจะเหมาะที่สุดถ้าจะลากเข้าความ คือถืออภิสิทธิ์แปลง “เศณา” เป็น “เสณ” (ตามกฎ : สันสกฤต ศาลา บาลี เสือ) แล้วคงความหมายเดิมของสันสกฤตไว้

: อุป (บาลี) + เสณ (บาลีแปลง) = อุปเสโณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างใกล้ชิด” ถือเอาความโดยประสงค์ว่า “ผู้มีปัญญารู้ชัด

ทั้งปวงที่แสดงมานี้เป็นการสันนิษฐานแบบตาบอดตาฟาง

ผู้ที่จะรู้ความหมายของคำว่า “อุปเสโณ” ได้ดีที่สุดก็คือพระอุปัชฌาย์ผู้ตั้งนามฉายานี้ และตัวเจ้าประคุณสมเด็จเอง ซึ่งอาจจะมีคำบอกเล่าหรือบันทึกเป็นหลักฐานไว้ในที่ใดที่หนึ่ง

ได้สอบถามไปยังวัดสระเกศแล้ว ยังไม่มีคำตอบ (และคาดว่าน่าจะยังไม่มีคำตอบต่อไปอีกเป็นเวลานาน)

ท่านผู้ใดทราบ หรือมีข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “อุปเสโณ” ขอเชิญแสดงเป็นวิทยาทาน

: ความรู้ ช่วยให้อิ่มได้เสมอ

: ถึงไม่อิ่มท้อง ก็ยังอิ่มใจ

————————

(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่านหลายรูป)

21-3-57

ต้นฉบับ