บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๓)

——————-

แบบแผนของการรักษาอุโบสถ

การรักษาอุโบสถตามแบบแผนก็คือ เมื่อถึงวันพระก็ไปทำบุญที่วัดที่ตนมีศรัทธาหรือสะดวกที่จะไปจะมา แต่งกายด้วยชุดที่วัดนั้นๆ กำหนดหรือตามที่ตกลงกัน

ชุดแต่งกายของผู้รักษาอุโบสถตามมาตรฐานของอุบาสกอุบาสิกาไทยที่ถือกันมาแต่เดิมก็คือ นุ่งดำใส่ขาว มีสไบเฉียง

แต่โปรดทราบว่า ชุดแต่งกายนี้ไม่เป็นประมาณ ประเดี๋ยวจะมีผู้หวังดีเข้ามาแหวใส่ผมเข้าอีก-ศีลอยู่ที่เครื่องแต่งกายหรือคะอาจารย์ทองย้อย

วัดนั้นหมู่คณะนั้นตกลงกันอย่างไร แต่งไปตามนั้น

ปกติการรักษาอุโบสถตามแบบแผนจะเริ่มด้วยการประกาศอุโบสถ นั่นคือ เมื่อทำกิจอื่นๆ เสร็จแล้ว พร้อมแล้ว พระภิกษุจะให้ศีลอุโบสถก่อนแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อพระธรรมกถึกขึ้นสู่ธรรมาสน์แล้ว ผู้แทนคณะผู้รักษาอุโบสถที่ได้รับมอบหมายจะทำหน้าที่กล่าวคำประกาศอุโบสถ

คำประกาศอุโบสถมีทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ภาษาบาลีจะมีข้อความตรงกัน แต่ภาษาไทยอาจยักเยื้องแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัด

ต่อไปนี้เป็นคำประกาศอุโบสถที่ใช้อยู่ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี

…………………………

อัชชะ   โภนโต   ปักขัสสะ  อัฏฐะมีทิวะโส.  (ถ้าวันพระ ๑๕ ค่ำ ว่า  ปัณณะระสีทิวะโส  ถ้าวันพระ ๑๔ ค่ำ ว่า  จาตุททะสีทิวะโส)  เอวะรูโป  โข  โภนโต  ทิวะโส   พุทเธนะ  ภะคะวะตา  ปัญญัตตัสสะ  ธัมมัสสะวะนัสสะ  เจวะ  ตะทัตถายะ  อุปาสะกะอุปาสิกานัง  อุโปสะถัสสะ  จะ  กาโล  โหติ.

หันทะ  มะยัง  โภนโต  สัพเพ  อิธะ  สะมาคะตา  ตัสสะ  ภะคะวะโต  ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา  ปูชะนัตถายะ,  อิมัญจะ  รัตติง  อิมัญจะ  ทิวะสัง  อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  อุปะวะสิสสามาติ  กาละปะริจเฉทัง  กัต์วา  ตัง  ตัง  เวระมะณิง  อารัมมะณัง  กะริต์วา  อะวิกขิตตะจิตตา  หุต์วา  สักกัจจัง  อุโปสะถัง  สะมาทิเยยยามะ.  อีทิสัง หิ  อุโปสะถะกาลัง  สัมปัตตานัง  อัมหากัง   ชีวิตัง  มา  นิรัตถะกัง  โหตุ.

ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะรักษาอุโบสถศีลให้สาธุชนทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน, วันนี้เป็นวันอุโบสถ ขึ้น ๘ ค่ำ (เปลี่ยนไปตามวันพระนั้นๆ คือ แรม ๘ ค่ำ, ขึ้น ๑๕ ค่ำ, แรม ๑๕ ค่ำ หรือ แรม ๑๔ ค่ำ) แห่งปักษ์, เป็นวันที่สาธุชนอุบาสกอุบาสิกาพึงสดับพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีลอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ

บัดนี้ ขอกุศลอันยิ่งใหญ่ คือการตั้งจิตสมาทานองค์ ๘ ประการแห่งอุโบสถนั้นจงเกิดมีแก่สาธุชนทั้งหลายผู้มาประชุมพร้อมกันในสถานที่นี้, จงกำหนดว่า เราจักรักษาอุโบสถศีลสิ้นคืนและวันวันนี้, พึงทำความเว้นจากโทษนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ คือ

เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑

เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย ๑

เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ๑

เว้นจากพูดปด ๑ 

เว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่ตะวันเที่ยงแล้วไป ๑

เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา ๑

เว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี ๑ ฉะนี้

อย่าให้จิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น จงสมาทานองค์ ๘ ประการแห่งอุโบสถนั้นโดยเคารพ เพื่อจะบูชาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยธัมมานุธัมมปฏิบัติ ตามกำลังของคฤหัสถ์ทั้งหลาย, ชีวิตของเราทั้งหลายที่ได้ดำรงมาจนถึงวันอุโบสถเช่นนี้แล้ว อย่าให้ล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์เลย.

…………………………

เมื่อประกาศอุโบสถจบแล้วพึงตั้งใจอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน ดังนี้

มะยัง  ภันเต,  ติสะระเณนะ  สะหะ, อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  ยาจามะ,

ทุติยัมปิ  มะยัง  ภันเต,  ติสะระเณนะ  สะหะ, อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  ยาจามะ,

ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต,  ติสะระเณนะ  สะหะ, อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  ยาจามะ.

ต่อนี้ ตั้งใจรับสรณคมน์และศีลโดยเคารพ คือประนมมือว่าตามคำที่พระสงฆ์บอกเป็นตอน ๆ ดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ.

(เมื่อพระสงฆ์ว่า ติสะระณะคะมะนัง  นิฏฐิตัง พึงรับพร้อมกันว่า อามะ  ภันเต

พระให้ศีลต่อไป ปกติว่าเฉพาะคำบาลี ไม่ต้องแปล ในที่นี้ลงคำแปลไว้เพื่อให้รู้ความหมาย)

๑.  ปาณาติปาตา  เวระมะณีสิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง  และใช้ผู้อื่นให้ฆ่า)

๒.  อะทินนาทานา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการถือเอาซึ่งสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยตนเอง และใช้ให้ผู้อื่นถือเอา)

๓.  อะพ๎รัห๎มะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการเสพอสัทธรรม อันไม่ใช่วิสัยของผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ)

๔.  มุสาวาทา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการกล่าวเท็จด้วยตนเอง และเสี้ยมสอนผู้อื่นให้กล่าว)

๕.  สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

๖.  วิกาละโภชะนา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล)

๗.  นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะทัสสะนะ,  มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูฟังการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่การกุศล และทัดทรงด้วยระเบียบดอกไม้ ลูบไล้ทาตัวด้วยของหอม เครื่องแต่งเครื่องย้อมต่าง ๆ)

๘.  อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.

(ข้าพเจ้าขอสมาทานซึ่งสิกขาบทคือเจตนาวิรัติ เครื่องงดเว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนอันสูงและใหญ่)

(ต่อไปนี้ควรว่าคำแปลด้วย)

อิมัง  อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง,  พุทธะปัญญัตตัง  อุโปสะถัง,  อิมัญจะ  รัตติง  อิมัญจะ  ทิวะสัง,  สัมมะเทวะ  อะภิรักขิตุง  สะมาทิยามิ.

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งอุโบสถศีล อันประกอบไปด้วยองค์แปดประการนี้, เพื่อจะรักษาไว้ให้ดีมิให้ขาดมิให้ทำลาย, ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง ณ เวลาวันนี้

(ต่อไปนี้พระว่า)

อิมานิ  อัฏฐะ  สิกขาปะทานิ  อัจเจกัง  รัตตินทิวัง  อุโปสะถะสีละวะเสนะ  ตุมเหหิ  อุปาสะกะอุปาสิกาภูเตหิ  สาธุกัง  อะขัณฑัง  กัต์วา  อัปปะมาเทนะ  รักขิตัพพานิ. 

(รับพร้อมกันว่า อามะ  ภันเต)

สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ  (พระหยุด, รับพร้อมกันว่า สาธุ)

สีเลนะ  โภคะสัมปะทา  (พระหยุด, รับพร้อมกันว่า สาธุ)

สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ  (พระหยุด, รับพร้อมกันว่า สาธุ)

ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย.

(รับพร้อมกันว่า  อามะ  ภันเต)

พิธีรับศีลอุโบสถจบแค่นี้ ถ้ามีการฟังธรรม ก็อาราธนาธรรมและฟังธรรมต่อไป

———

ที่แสดงมาทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบการรักษาอุโบสถตามแบบแผน

สำหรับท่านที่ไม่ต้องการแบบแผน จะเอาแต่แก่นล้วนๆ ไม่เอาสะเก็ดเปลือกกระพี้ ก็มีคำแนะนำสั้นๆ คือ –

พอถึงวันพระ ท่านก็กำหนดจิตของท่าน ตั้งใจปฏิบัติตามศีลทั้ง ๘ ข้อ – จบ

แต่มีแง่คิดนิดหนึ่งว่า ไม้ที่มีร่มเงางามนั้นไม่ได้มีแต่แก่นตั้งโด่อยู่ดุ้นเดียว ยังมีราก กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล ประกอบกันเป็นพฤกษาอันสมบูรณ์

ข้อสำคัญอยู่ที่เรารู้ว่า อะไรส่วนไหนเป็นประโยชน์แก่เรา ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราอาจเป็นประโยชน์แก่คนอื่นที่ยังมีอินทรีย์อ่อน อาศัยไต่เต้าขึ้นไปทีละเล็กละน้อย จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า

อินทรีย์คือความพร้อมของแต่ละคนไม่เท่ากัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๙:๔๕

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *