บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง บอกบุญอุโบสถ

บอกบุญอุโบสถ (๔)

——————-

องค์อุโบสถศีล

ศีลหรือวินัยสงฆ์ก็เหมือนกฎหมาย มีคำจำกัดความ มีองค์ประกอบ และกำหนดลักษณะแห่งการกระทำชัดเจน สามารถวินิจฉัยได้ว่าการกระทำอย่างไรผิดหรือถูกตามบทบัญญัติ

ไม่มี-มันน่าจะผิด หรือ-มันน่าจะถูก

ผิดคือผิด ถูกคือถูก ชัดเจน ตรงไปตรงมา

ถ้าจะมีการพลิกเหลี่ยมให้เห็นว่าผิดเป็นถูกหรือถูกเป็นผิด ก็ต้องหา “เหลี่ยม” ที่กฎหมายนั่นเองบัญญัติไว้มารองรับ ไม่ใช่คิดเอาเองลอยๆ

องค์อุโบสถศีล” หมายถึง อุโบสถศีลแต่ละข้อมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยได้แน่นอนว่าเป็นการล่วงละเมิดศีลข้อนั้นๆ ถ้าครบองค์ประกอบ ศีลก็ขาด ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ ศีลยังไม่ขาด แต่อาจด่างพร้อยหรือมัวหมอง

ต่อไปนี้จะได้นำองค์ประกอบของอุโบสถศีลแต่ละข้อตามที่ท่านกำหนดไว้มาแสดง โปรดทราบว่า “องค์” ที่ท่านกำหนดไว้นี้รวมทั้งคำแปลเป็นไทย เป็นภาษาศีลหรือภาษาวินัย ทำนองเดียวกับภาษากฎหมาย เป็นอย่างที่เรียกว่า “ตัวบท” ถ้อยคำที่เป็นตัวบทจำต้องคงไว้ตามต้นฉบับ จะเข้าใจตัวบทได้ก็ต้องมีคำอธิบายอีกทีหนึ่ง ในที่นี้ขอเสนอเฉพาะตัวบทไว้ชั้นหนึ่งก่อน ผู้ปรารถนาจะเข้าใจตัวบทพึงแสวงหาคำอธิบายต่อไป

หรือถ้าญาติมิตรท่านใด-โดยเฉพาะพระคุณเจ้าทั้งหลาย-จะกรุณาช่วยเขียนคำอธิบายเป็นวิทยาทาน ก็จะขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง – ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว นั่นเป็นหน้าที่โดยตรงเลยทีเดียวนะขอรับ เพราะหลักการมีอยู่ คือ พระภิกษุสามเณรที่หน้าที่ –

๑ ศึกษาพระธรรมวินัย

๒ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง

๓ เผยแผ่พระธรรมวินัยให้แพร่หลาย

พระภิกษุสามเณรยังทำหน้าที่อยู่ตราบใด พระศาสนาก็ยังดำรงอยู่ตราบนั้น

……………..

(๑) ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ:

.  ปาโณ สัตว์มีชีวิต

. ปาณะสัญญิตา ตนรู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต

. วะธะกะจิตตัง จิตคิดจะฆ่า

.  อุปักกะโม ทำความเพียรที่จะฆ่า

.  เตนะ  มะระณัง สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น

(๒) ศีลข้อ ๒ อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ:

.  ปะระปะริคคะหิตัง ของอันเจ้าของหวงแหน

. ปะระปะริคคะหิตะสัญญิตา  ตนรู้อยู่ว่าของอันเจ้าของหวงแหน

. เถยยะจิตตัง จิตคิดจะลัก

. อุปักกะโม ทำความเพียรที่จะลัก

(๓) ศีลข้อ ๓ อพรัหมฯ มีองค์ ๓ คือ:

.  ติณณัง  มัคคานัง  อัญญะตะระตา  วัตถุอันตนประพฤติล่วงในมรรคทั้ง ๓ มรรคใดมรรคหนึ่ง

. ตัส๎มิง  เสวะนะจิตตัง จิตคิดจะเสพในมรรคทั้ง ๓ นั้น

. มัคเคนะ  มัคคะปะฏิปัตติ  เมื่อเสพทำมรรคใดมรรคหนึ่งให้ถึงกันในที่ชุ่มประมาณเท่าเมล็ดงา

(๔) ศีลข้อ ๔ มุสาวาท มีองค์ ๓ คือ:

. วิสังวาทะนะจิตตัง จิตคิดจะพูดให้ผิด

. ตัชโช  วายาโม เพียรกล่าวปดออกไป

. ปะรัสสะ  ตะทัตถะวิชานะนัง  ข้อความที่ตนพูดนั้นคนอื่นรู้เข้าใจ

(๕) ศีลข้อ ๕ สุราฯ มีองค์ ๔ คือ:

.  มัชชะภาโว ความเป็นของมึนเมามีสุราเป็นต้น

. ปาตุกัมยะตาจิตตัง จิตใคร่จะดื่มกิน คือเสพของมึนเมา

. ตัชโช  วายาโม เพียรพยายามเกิดแต่จิตนั้น

. ตัสสะ  ปานัง ดื่มน้ำเมานั้นให้ล่วงไหลลำคอเข้าไป

(๖) ศีลข้อ ๖ วิกาลโภชน์ มีองค์ ๔ คือ:

. วิกาละตา ล่วงตั้งแต่ตะวันเที่ยงแล้วไป

. ยาวะกาลิกะตา อาหารและลูกไม้ที่เป็นของเคี้ยวและกัด

. อัชโฌหะระณะปะโยโค ประโยคกลืนกิน

. เตนะ  อัชโฌหะระณัง กลืนให้ล่วงไหลลำคอลงไปด้วยประโยคนั้น

(๗/๑) ศีลข้อ ๗ ส่วนที่ ๑ นัจจคีตะฯ มีองค์ ๓ คือ:

.  นัจจาทิตา ความเป็นการเล่นมีฟ้อนรำเป็นต้น

. ทัสสะนัตถายะ  คะมะนัง ไปเพื่อต้องการจะดู

. ทัสสะนัง กิริยาที่ได้เห็น

(๗/๒) ศีลข้อ ๗ ส่วนที่ ๒ มาลาฯ มีองค์ ๓ คือ:

. มาลาทีนัง  อัญญะตะระตา  ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมและเครื่องประดับ อันใดอันหนึ่ง

. อะนุญญาตะการะณาภาโว  เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไม่มี คือทาของหอมคิดจะแก้เจ็บก็หามิได้

. อะลังกะตะภาโว ทัดทรงประดับกายด้วยจิตคิดจะประดับ

(๘) ศีลข้อ ๘ อุจจาฯ มีองค์ ๓ คือ:

.  อะกัปปิยะธาระตา ทรงเครื่องลาดมีนุ่นและสำลีภายในและวิจิตรงามต่างๆ

. ปะมาณาติกกันตะมัญจะปีฐะตา เตียงตั่งมีเท้าสูงเกินประมาณ คือเกินสิบนิ้วหนึ่งกระเบียดช่างไม้

. อะภินิสีทะนัง  วา  อะภินิปัชชะนัง  วา นั่งหรือนอนบนเตียงตั่งหรือเครื่องลาดนั้น

……………..

ขออธิบายศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต พอเป็นนิทัศนะดังนี้

ปาณาติบาต” เป็นศีลข้อที่ ๑ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ และเป็นอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ในจำนวน ๔ สิกขาบท (ในกรณีฆ่ามนุษย์)

ศีลข้อ “ปาณาติบาต” นี้ มักพูดกันเป็นคำสามัญว่า “ฆ่าสัตว์” คำว่า “สัตว์” ชวนให้นึกแคบเข้าไปเฉพาะสัตว์เดรัจฉาน คือสัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่ในทางหลักธรรมวินัยท่านจำกัดความไว้รัดกุมด้วยการใช้คำว่า “ปาณ” หมายถึง “สิ่งมีชีวิตที่มีลมปราณ” คือมีลมหายใจ เพราะฉะนั้น สิ่งมีชีวิตที่มี “ปาณ” ทุกชนิด จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปก็ตาม ย่อมรวมอยู่ในศีลข้อนี้ทั้งสิ้น

ปาณาติบาต” มีองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ:

. ปาโณ สัตว์มีชีวิต = ปาณะนั้นยังมีชีวิตอยู่

. ปาณะสัญญิตา ตนรู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต = ผู้ทำรู้ว่าปาณะนั้นยังมีชีวิต

. วะธะกะจิตตัง จิตคิดจะฆ่า = มีเจตนาจะทำให้ตาย

. อุปักกะโม ทำความเพียรที่จะฆ่า = ลงมือทำ

. เตนะ  มะระณัง สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น = ปาณะนั้นตายด้วยการกระทำนั้นโดยตรง

ทดสอบความเข้าใจ :

(๑) เห็นสุนัขนอนอยู่ เข้าใจว่าเป็นสุนัขตาย ควักปืนออกมายิงด้วยความคึกคะนอง สุนัขเลยถูกยิงตายจริงๆ

ศีลข้อปาณาติบาตขาดหรือไม่?

(๒) บ้านอยู่ริมถนน สุนัขจรจัดมานอนที่ประตูบ้าน เจ้าของบ้านเอาไม้ขว้างเพื่อจะไล่มันออกไป สุนัขตกใจวิ่งถลาไปกลางถนน พอดีรถยนต์คันหนึ่งแล่นมาชนสุนัขตาย

เจ้าของบ้านศีลขาดหรือไม่?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๐:๔๘

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *